โรงแรมเกียรตินครใน จ.นครศรีธรรมราช ตั้งเบิกไปรวมแล้วเกือบ 6 ล้านบาท ถึงโรงพยาบาลคู่สัญญาที่ร่วมกันลงนามเป็นสถานพยาบาลผู้ป่วยไวรัส COVID-19 เฉพาะกิจ หรือ ฮอสพิเทล (Hospitel) แต่เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่โรงแรมแห่งนี้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและได้รับเงินกลับมาเพียง 67,000 บาท
หากเทียบกับค่าใช้จ่ายจริงตามที่โรงแรมแห่งนี้กล่าวอ้าง ชัดเจนว่า 67,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่ามาก เมื่อมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมแล้วกว่า 6,500,000 บาท
เจ้าของโรงแรมเปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า หลังลงนามทำสัญญาเป็นฮอสพิเทล ระยะเวลา 6 เดือน มีค่าดูแลผู้ป่วยตามที่ตกลงในสัญญา เฉลี่ยวันละ 800 บาทต่อผู้ป่วย 1 คน จัดอาหารบริการวันละ 3 มื้อ ตามสัญญาสามารถเบิกเงินงวดแรกได้ภายใน 45 วัน และงวดต่อไปทุก 15 วัน แต่ผลลัพธ์ทางการเงิน ไม่ได้ปรากฏในทิศทางตามที่ตกลงกันไว้
โรงแรมค้างค่าไฟ 3 แสน ดูแลผู้ป่วยอีก 96 คน
เจ้าของโรงแรม ระบุอีกว่า ค่าใช้จ่ายที่เบิกได้นี้ ครอบคลุมผู้ป่วยเพียง 8 คน ขณะที่ทางโรงแรมมีค่าจ่ายใช้จ่ายแล้วกว่า 6,500,000 บาท เพื่อรักษาผู้ป่วยจนหายแล้วกว่า 600 คน และขณะนี้ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 96 คน เป็นเด็กเล็ก 28 คน
การลงนามในสัญญาเป็นฮอสพิเทลเกิดขึ้นเมื่อ 7 ก.ย. มีโรงพยาบาลนครพัฒน์เป็นคู่สัญญา กำหนดระยะเวลา 6 เดือน ส่วนค่าดูแลเฉลี่ย 800 บาทต่อคน จะแบ่งเป็นค่าจ้างทำความสะอาดที่ทางโรงพยาบาลจัดส่งคนไปให้ ห้องละ 200 บาท และค่าทิ้งขยะติดเชื้อกิโลกรัมละ 25 บาท บางวันอาจมีขยะมากกว่า 200 กิโลกรัม
ปัญหาด้านการเงินที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสัญญา ทำให้เจ้าของโรงแรมแห่งนี้ต้องขายทรัพย์สินส่วนตัว เพื่อประคองสถานการณ์ทางธุรกิจ ทั้งการขายรถยนต์ ทองคำแท่ง นำเงินเก็บสำรองของสมาชิกครอบครัวไปใช้หมุนเวียน แต่ยังคงค้างค่าไฟ 2 เดือน เป็นเงินกว่า 300,000 บาท
เจ้าของโรงแรม สอบถามไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญาหลายครั้ง แต่คำตอบที่ได้รับ คือยังไม่ได้รับเงินจาก สปสช.ซึ่ง สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี ชี้แจงต่อเจ้าของโรงแรมว่า ไม่สามารถอนุมัติเงินให้ฮอสพิเทลทุกจังหวัดพร้อมกันได้
สปสช.ชี้แจงรอเงินรายงวดจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ
โฆษก สปสช. เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า งบประมาณที่ใช้ดูแลผู้ป่วย COVID-19 ไม่ใช่งบประมาณของ สปสช. แต่เป็นงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามสัดส่วนจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ซึ่งรัฐบาลจัดสรรให้ทุกงวด ล่าสุด สปสช.ได้รับอนุมัติงบประมาณก้อนใหม่แล้วตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. และสามารถจ่ายให้โรงพยาบาลทั่วประเทศได้ไม่เกินวันที่ 16 ธ.ค.
โฆษก สปสช. ยอมรับว่า สปสช.ประเมินงบประมาณที่ต้องใช้ในการระบาดระยะหลังต่ำกว่าความเป็นจริง จึงเกิดปัญหาอนุมัติงบประมาณล่าช้า เพราะต้องรอเงินก้อนใหม่จากรัฐบาล