กรณีเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ปักหลักเพื่อรอฟังคำตอบจากรัฐบาลยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา วันนี้ (14 ธ.ค.2564) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยังไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะยังไม่ได้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) รวมทั้งยังไม่ได้เปลี่ยนผังสีด้วย
ตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และต้องทำประชาพิจารณ์ ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งก็ชี้แจงกับประชาชนที่มารอข้างทำเนียบรัฐบาลว่าดำเนินการไปตามขั้นตอน แต่ยังไม่มีผลอะไรออกมาเลย
สผ.ชี้ต้องทำตามขั้นตอนกม.สิ่งแวดล้อม
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าขณะนี้โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ยังอยู่ในกระบวนการจัดทำรายงานอีไอเอ และอีเอชไอเอ ตามขั้นตอนเนื่องจากเข้าข่ายประเภทโครงการ 1 ใน 12 ประเภทโครงการหรือกิจการที่ต้องทำรายงานอีเอชไอเอ ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม
เจ้าของโครงการยังไม่มีการนำเสนอเล่มรายงานอีไอเอ-อีเอชไอเอ เข้ามาที่สผ.ดังนั้นจึงถือว่ายังไม่ได้เริ่มขั้นตอนพิจารณาทางด้านสิ่งแวดล้อม เท่ากับเจ้าของโครงการต้องเริ่มนับหนึ่ง
ทั้งนี้หนึ่งในข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ปักหลักรอคำตอบจากครม.ขอให้ทุกหน่วยงานรัฐชะลอโครงการนิคมจะนะ ตามที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเสนอ แล้วเดินหน้าทำกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA) โดยให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินการแทน ศอ.บต. โดยมีมหาวิทยาลัย และนักวิชาการเข้ามามีส่วนร่วมตามที่แกนนำเสนอ
กางเหตุผลนิคมจะนะต้องทำ SEA
ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน TDRI กล่าวว่า เพื่อแก้ไขความขัดแย้งกรณีจะนะ รัฐบาลควรมีการจัดทำ SEA ด้วย 2 เหตุผลสำคัญ เนื่องจาก ศอ.บต. ยังไม่ได้จัดทำ SEA มีเพียงการจัดทำกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาอ.จะนะ จ.สงขลา
ในเอกสารผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่มีเนื้อหาทั้งหมด 26 หน้า กล่าวอ้างถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวมเพียงหน้าเดียวว่า โครงการนี้จะสร้างงานขึ้น 100,000 อัตรา โดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนสนับสนุน
เอกสารดังกล่าวยังขาดการพิจารณาประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมประมงพื้นบ้าน
การอ้างลอยๆว่าทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นนับแสนตำแหน่ง ไม่แสดงหลักฐานสนับสนุนทำให้เกิดคำถามว่าการจ้างงานจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อเป็นอุตสาหกรรมหนักที่ใช้ทุนเข้มข้น ไม่ต้องการแรงงานจำนวนมาก
ในขณะที่ประเทศต่างๆ ในโลกกำลังมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการเติบโตสีเขียวที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รัฐบาลควรต้องพึงระวังว่า การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นจะไม่ไปกระทบสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ซึ่งพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เพียงเพื่อประโยชน์ของนายทุนบางกลุ่ม
ประการที่สอง ในรายงานการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ปี 2554 สศช. ระบุไว้ชัดเจนว่า ควรชะลอการพัฒนาอุตสาหกรรมรวมทั้งอุตสาหกรรมพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไว้จนกว่าจะสร้างการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและภาคีการพัฒนา ซึ่งส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยการจัดทำ SEA
รัฐบาลควรสั่งการให้มีการจัดทำ SEA ที่รอบด้านได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นทางออกในการแก้ไขความขัดแย้งในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ชี้เลิกนิคมจะนะยาก-ผู้ชุมนุมปักหลักทำเนียบรอคำตอบครม.
รัฐเสนอเครือข่ายฯ จะนะ สั่งทุกหน่วยงานชะลอโครงการ รอผลศึกษา SEA