วันนี้ (24 ธ.ค.2564) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายพิทยา จินาวัฒน์ และนายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญประจำปี 2564 กรณีการชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564
ซึ่ง กสม. มีมติในคราวการประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 53/2564 (28) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนอันเกี่ยวเนื่องกับกรณีการชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 หลายคำร้อง ประกอบกับพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 16 และ 18 ก.ค.2564 รวมทั้งเมื่อวันที่ 1 และ 7 ส.ค.2564 อาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
จึงได้มีมติให้ตรวจสอบและตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ โดยได้รับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ทั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (เจ้าหน้าที่ คฝ.) หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน ผู้พักอาศัยบริเวณรอบพื้นที่การชุมนุม และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
รวมทั้งจัดให้มีเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง และการคุ้มครองสิทธิเด็กในสถานการณ์การชุมนุม ร่วมกับตัวแทนผู้ชุมนุม หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านสันติวิธี และนักจิตวิทยาเด็ก นอกจากนี้ยังได้เฝ้าระวังสถานการณ์ และลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนลงพื้นที่ไปติดตามการจับกุมผู้ถูกจับกุมเพื่อตรวจสอบและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วย
จากการตรวจสอบ พบว่า การชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 เป็นการรวมตัวของประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักกิจกรรมทางการเมือง เพื่อแสดงความเห็นและมีข้อเรียกร้องปฏิรูปทางการเมืองควบคู่กับข้อเรียกร้องต่อมาตรการของรัฐบาล ในการบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19)
โดยมีรูปแบบการชุมนุมที่สำคัญ 3 รูปแบบ คือ (1) การชุมนุมที่เป็นการประท้วง การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ (2) การชุมนุมในรูปแบบกิจกรรม “คาร์ม็อบ (Car Mob) และ “ไบก์ม็อบ” (Bike Mob) และ (3) การชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนการชุมนุมอย่างชัดเจน โดยการตรวจสอบมีประเด็นที่ กสม. ได้พิจารณาและมีความเห็น ดังนี้
1.การใช้อำนาจรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม พิจารณาว่ามีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ พบว่า การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548) เพื่อจัดการและควบคุมการชุมนุมของรัฐบาล
มีแนวโน้มเป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวมและห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด และไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุม กับความปลอดภัยสาธารณะ (การป้องกันภัยทางสาธารณสุข)
นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมและดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 และกฎหมายอื่น ซึ่งถือเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม จึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม
ส่วนการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม พบว่า หลายกรณี เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้ใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนด้วยวิธีการไม่เหมาะสม เช่น ใช้กระบองในลักษณะที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง ยิงกระสุนยางในแนวสูงระดับศีรษะ หรือ ยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปตกในที่พักอาศัยของประชาชน อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558
และไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement)
ขณะที่การใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุมนั้น หลายกรณีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ เช่น การใช้กระสุนยางยิงสกัดการหลบหนี การขับรถยนต์ตัดหน้าเฉี่ยวชนหรือถีบรถจักรยานยนต์จนล้มลง
ซึ่ง กสม. เห็นว่า แม้ผู้ที่ถูกจับกุมจะมีการใช้ความรุนแรงในการแสดงออกร่วมอยู่ แต่ไม่มีเหตุจำเป็นที่เจ้าหน้าที่จะต้องใช้วิธีการรุนแรงโดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาโดยเฉพาะการเข้าจับกุมเด็กและเยาวชน จึงเป็น
การกระทำที่ไม่เหมาะสม และไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำหรับการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พบว่า มีการใช้เครื่องพันธนาการในการจับกุมเด็กและเยาวชน ซึ่งขณะที่ถูกจับกุมในบางกรณีเยาวชนไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือต่อสู้ขัดขวาง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่สายรัดข้อมือ (Cable Tie) เป็นเครื่องพันธนาการ และยังปรากฏกรณีเยาวชนถูกควบคุมตัวร่วมกับผู้ต้องหาผู้ใหญ่ โดยไม่มีการแยกให้อยู่ในสถานที่พิเศษเป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ถูกจับกุมถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับหรือที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เช่น ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี (ตชด. ภาค 1) ส่งผลให้ทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ต้องหา เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ในทันที
ขณะที่การดำเนินคดีบางกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิของผู้ถูกจับกุม หรือไม่ยินยอมให้ติดต่อญาติ ซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
ในประเด็นการปล่อยชั่วคราว ซึ่งมีทั้งกลุ่มผู้ถูกจับและควบคุมตัวที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันและมีประกัน และมีกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลพฤติการณ์ในการกระทำความผิดครั้งหลัง ผิดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว หรืออาจมีการกระทำผิดซ้ำ
กสม. เห็นว่า กรณีนี้แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของศาล แต่การพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวควรยึดหลักที่ว่าทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวนั้นต้องเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรตามที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อาญา. เท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด และสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี
2.ความเห็นต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน แม้การชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 จะอยู่ในช่วงเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่การชุมนุมในรูปแบบกิจกรรม “คาร์ม็อบ” (Car Mob) และไบก์ม็อบ (Bike Mob) ซึ่งเป็นการขับขี่ยานพาหนะไปตามเส้นทางต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายในการป้องกัน
การแพร่ระบาดของโรค
อีกทั้งไม่ปรากฏการใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมในลักษณะที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลอื่น ส่วนกรณีที่มีเหตุใช้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นภายหลังการชุมนุมยุติหรือ เชื่อได้ว่าเกิดขึ้นจากมวลชนที่ไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการชุมนุม เช่นเดียวกับการชุมนุมที่เป็นการประท้วง
การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองและไม่มีจุดประสงค์ในการใช้ความรุนแรง การชุมนุมทั้งสองรูปแบบนี้จึงถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี รูปแบบการชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนอย่างชัดเจน โดยที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้สิ่งเทียมอาวุธตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงและมิใช่การชุมนุมโดยสงบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้มาตรการบังคับทางกฎหมายได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลักความเหมาะสมและได้สัดส่วน โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน
3.ความเห็นต่อผลกระทบและการเยียวยาความเสียหายจากสถานการณ์การชุมนุม เห็นว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นการเฉพาะ
แม้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 13 มิถุนายน 2560 จะกำหนดให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำกฎหมายหรือระเบียบ เงื่อนไขและวิธีการช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณี แต่ปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จและยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในประเด็นนี้
4.ความเห็นต่อกรณีการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การชุมนุม พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีการแยกแยะกลุ่มเด็กออกจากกลุ่มผู้ใหญ่ในการชุมนุม รวมทั้งไม่ปฏิบัติต่อเด็กด้วยวิธีการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งในเรื่องการใช้กำลังในการควบคุมดูแลการชุมนุม และปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม
ซึ่ง กสม.ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อเดือนกันยายน 2564 ซึ่งหน่วยงานเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะของ กสม.
จากผลการตรวจสอบและความเห็นข้างต้น กสม. จึงมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สรุปได้ดังนี้
ในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องงดเว้นการใช้ลวดหีบเพลงแถบหนามเป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชน ปรับปรุงวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ คฝ. ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายและหลักสากล
รวมทั้งต้องจัดให้ผู้ถูกจับกุมทุกคนได้รับสิทธิที่พึงมีตามกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนหลีกเลี่ยงการกระทำ อันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ถูกจับกุมในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ให้คณะรัฐมนตรีหลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 เป็นไปเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคง ไม่อาจนำไปใช้ในการชุมนุมทางการเมืองทั่วไป และควรมอบหมายกระทรวงยุติธรรมเร่งรัดการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบกลางในการช่วยเหลือเยียวยา ที่ครอบคลุมทุกกรณี รวมทั้งกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองโดยเร็ว
ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรกำหนดแนวทางปฏิบัติให้การควบคุมการชุมนุมกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ โดยการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมต้องให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ศาลยุติธรรมพิจารณากำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราว ให้สอดคล้องกับหลักการที่รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรองและคุ้มครอง และควรพิจารณามาตรการอื่นแทนการคุมขังด้วย
พร้อมกันนี้ กสม. มีข้อเสนอแนะต่อการจัดการชุมนุม ซึ่งต้องเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธและสิ่งเทียมอาวุธ โดยต้องคำนึงถึงสิทธิและความปลอดภัยของบุคคลอื่นรวมถึงความรับผิดชอบต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากอันตรายในการชุมนุม และการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และเหตุอื่น โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งควรมีช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล
รายงานฉบับสรุปมีดังนี้
รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เรื่องเสรีภาพในการชุมนุม อันเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิเด็ก สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการเดินทาง กรณีการชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2564
1.ความเป็นมา
จากการประมวลสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 และ 18 กรกฎาคม 2564 รวมทั้งเมื่อวันที่ 1 และ 7 สิงหาคม 2564 อาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีมติเห็นสมควรให้มีการตรวจสอบ ตามคำร้องที่ 147/2564 คำร้องที่ 154/2564 และคำร้องที่ 155/2564
นอกจากนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 ดังนี้
(1) คำร้องที่กล่าวอ้างว่า รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ร้องเรียนเห็นว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมและสลายการชุมนุม การจับกุมแกนนำและผู้ชุมนุม
รวมทั้งการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบในการแทรกแซงและจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม จึงขอให้ตรวจสอบ จำนวน 7 คำร้อง ได้แก่ คำร้องที่ 151/2564 คำร้องที่ 158/2564 คำร้องที่ 166/2564 คำร้องที่ 182/2564 คำร้องที่ 186/2564 และคำร้องที่ 206 – 207/2564
(2) คำร้องที่กล่าวอ้างว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีการชุมนุมคาร์ม็อบ (Car Mob) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 7 และ 15 สิงหาคม 2564 ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงขอให้ตรวจสอบ ตามคำร้องที่ 167/2564
(3) คำร้องที่ขอให้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อเยียวยาความเสียหาย ตามคำร้องที่ 164/2564
2.ประเด็นการตรวจสอบ
กรณีมีปัญหาที่ต้องพิจารณา 4 ประเด็น ดังนี้
1. การใช้อำนาจรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม
1.1 การจัดการและการควบคุมดูแลการชุมนุมของรัฐมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
1.2 การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุมมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
1) การใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนต่อผู้ชุมนุม
2) การใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุม
1.3 การดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
1) การใช้เครื่องพันธนาการและการควบคุมตัว
2) การแจ้งสิทธิหรือให้สิทธิแก่ผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหา
3) ข้อกล่าวหาและฐานความผิด
4) การปล่อยชั่วคราว
2.ความเห็นต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
3.ความเห็นต่อผลกระทบและการเยียวยาความเสียหาย
4.ความเห็นต่อกรณีการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การชุมนุม
3.ผลการพิจารณา
1.การใช้อำนาจรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม
1.1 การจัดการและการควบคุมดูแลการชุมนุมของรัฐมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดการและการควบคุมดูแลการชุมนุมของรัฐ โดยการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีแนวโน้มที่เป็นการห้ามการชุมนุมแบบเหมารวม และห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาด ไม่ได้สัดส่วนระหว่างเสรีภาพในการชุมนุม กับความปลอดภัยสาธารณะ (การป้องกันภัยทางสาธารณสุข)
ดังจะเห็นได้จากการประกาศแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบว่า การชุมนุมเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และการนำสิ่งกีดขวางทางกายภาพ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ แผงเหล็ก และโดยเฉพาะการนำลวดหีบเพลงแถบหนามซึ่งเป็นวัตถุที่มีความอันตรายอาจทำให้เกิดการได้รับบาดเจ็บได้ มาวางปิดกั้นเส้นทางของผู้ชุมนุมตั้งแต่ก่อนจะถึงเวลานัดหมายการชุมนุม และเป็นการวางในระยะที่ห่างไกลกับสถานที่ซึ่งเป็นเป้าหมายของผู้ชุมนุม ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจในบริเวณที่มีการวางสิ่งกีดขวางจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ
นอกจากนั้นยังมีการจับกุมผู้ที่มาชุมนุมในเวลาต่อมาและดำเนินคดีในความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และกฎหมายอื่น ถือเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม กรณีจึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องต่อข้อคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 (General Comment No.37 on the right of peaceful assembly) เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Human Rights Committee)
1.2 การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุมมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
1) การใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนต่อผู้ชุมนุม
จากการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนในหลายเหตุการณ์ที่เกิดการปะทะกัน สามารถสรุปการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนแต่ละประเภทในภาพรวมได้ ดังนี้
1.1) การใช้กระบอง
ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนมีการแจ้งเตือนก่อนการใช้กระบองกับผู้ชุมนุม อีกทั้งมีการใช้กระบองในลักษณะที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงหลายครั้ง
1.2) การใช้รถควบคุมฝูงชนฉีดน้ำแรงดันสูง
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการผสมแก๊สน้ำตาและสารเคมีสีม่วงในน้ำหลายครั้ง ส่วนใหญ่ประกาศแจ้งเตือนว่าจะมีการฉีดน้ำ แต่บางครั้งก็ไม่ได้มีการแจ้งเตือนก่อน หรือบางกรณีการประกาศแจ้งเตือนมีเสียงที่เบามากทำให้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ได้ยินการแจ้งเตือน ในหลายครั้งพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฉีดน้ำไปทางสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่และผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ก่อความรุนแรง อีกทั้งยังพบว่ามีการฉีดน้ำจากทางยกระดับลงมาใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านล่างด้วย
1.3) การใช้แก๊สน้ำตา
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลายครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งเตือนอย่างชัดเจนว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตา บางกรณีแจ้งเตือนในระยะแรกเริ่มของการใช้ แต่หลังจากนั้นไม่ได้มีการแจ้งเตือนอีก ในบางสถานการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่อง บางกรณีพบว่ามีการยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปตกในที่พักอาศัยของประชาชนและอาคารบริษัทเอกชน
และพบว่ามีผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้รับผลกระทบจากกลิ่นควันของแก๊สน้ำตา ซึ่งมีเด็กเล็กรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการยิงแก๊สน้ำตาในระดับขนานกับพื้น โดยไม่ใช่การยิงด้วยมุมสูง
1.4) การใช้กระสุนยาง
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลายครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งเตือนผู้ชุมนุมให้ทราบก่อน บางกรณีมีการแจ้งเตือนเพียงแค่ครั้งแรก แต่หลังจากนั้นไม่ได้แจ้งเตือนอีก ทั้งยังพบว่ามีการยิงกระสุนยางในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรง ได้แก่ การยิงในแนวสูงระดับศีรษะ การยิงจากบนรถกระบะขณะเคลื่อนที่จับกุม การยิงจากบริเวณที่สูงลงมา การยิงในระยะประชิด การยิงใส่ผู้ชุมนุมที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่มีอาวุธหรือเป็นผู้ก่อความรุนแรง รวมถึงการระดมยิงโดยไม่แยกแยะและไม่เลือกเป้าหมายว่าผู้ที่อยู่ในแนววิถีการยิงเป็นผู้ที่ก่อความรุนแรงหรือไม่
ซึ่งส่งผลให้มีผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บ ทั้งการบาดเจ็บเล็กน้อยและการบาดเจ็บที่รุนแรงโดยเฉพาะบริเวณศีรษะและดวงตา นอกจากนี้ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางเข้าไปในบริเวณอาคารที่พักอาศัยของประชาชนด้วย
โดยสรุปแล้วเห็นว่า การใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้นเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 และไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) กรณีจึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2) การใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุม
จากการตรวจสอบพบว่า ในระยะหลัง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าทำการจับกุมผู้ชุมนุมมักจะใช้ “ชุดเคลื่อนที่เร็ว” เข้ารุกไล่จับกุม ซึ่งในหลายกรณีปรากฏว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมมักจะได้รับบาดเจ็บจากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนยางยิงสกัดการหลบหนี
บางกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้วิธีการขับรถยนต์ตัดหน้าจนทำให้รถจักรยานยนต์ล้มลง และใช้กระบองตีไปที่ผู้ชุมนุมพร้อมเข้าจับกุม บางคราวขับรถกระบะเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมก่อนเข้าจับกุม หรือมีการคว้าตัวผู้ชุมนุมที่กำลังขับขี่รถจักรยานยนต์หลบหนีจนรถล้ม และรุมเข้าจับกุม
อีกทั้งยังพบว่ามีการผลักรถจักรยานยนต์ให้ล้มก่อนเข้าจับกุม หรือการขว้างโล่และใช้เท้าถีบไปที่รถจักรยานยนต์ของผู้ชุมนุมที่กำลังขับรวมกลุ่มกันจนล้มระเนระนา
พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ที่ถูกจับกุมจะมีการใช้ความรุนแรงในการแสดงออกร่วมอยู่ด้วย แต่ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้วิธีการเข้าจับกุมโดยไม่สนใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมา
ทั้งผู้ถูกจับกุมส่วนหนึ่งยังเป็นเยาวชน บางรายมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ การใช้กำลังจับกุมดังกล่าวนั้น จึงเป็นไปโดยไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม กรณีจึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
1.3 การดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่
1) การใช้เครื่องพันธนาการและการควบคุมตัว
1.1) จากการตรวจสอบพบว่า มีการใช้เครื่องพันธนาการในการจับกุมเด็กและเยาวชน ซึ่งขณะที่ถูกจับกุมในบางกรณีนั้น ผู้ต้องหาได้แจ้งว่าเป็นเยาวชน หรือไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือต่อสู้ขัดขวาง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใส่สายรัดข้อมือ (Cable Tie) เป็นเครื่องพันธนาการ
พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการจับกุมเด็กและเยาวชนโดยมีการใช้เครื่องพันธนาการทั้งในขณะที่จับกุมและระหว่างควบคุมตัวดังกล่าว ทั้งที่ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าเด็กหรือเยาวชนที่ถูกจับกุมนั้นจะหลบหนีหรือต่อสู้ขัดขวางแต่อย่างใด เป็นการละเมิดสิทธิของเด็กและเยาวชนในการจับกุมและควบคุมตัว อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
1.2) จากการตรวจสอบพบว่า มีกรณีเยาวชนถูกควบคุมตัวโดยไม่มีการแยกให้อยู่ในสถานที่พิเศษเป็นการเฉพาะ อีกทั้งบางกรณีมีการนำตัวผู้ถูกจับกุมซึ่งเป็นเยาวชนไปควบคุมตัวไว้ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ร่วมกับผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ โดยไม่มีการแยกพื้นที่ควบคุมตัวอย่างเป็นสัดส่วน
พิจารณาแล้วเห็นว่า การควบคุมตัวเยาวชนในสถานที่และลักษณะดังกล่าวเป็นไปโดยไม่เหมาะสมและไม่ได้คำนึงถึงสภาวะของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ กรณีจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเยาวชนที่ถูกควบคุมตัว
1.3) จากการตรวจสอบประเด็นเรื่องระยะเวลาการควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีการควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนไว้เกินกว่าระยะเวลาตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดแต่อย่างใด
1.4) จากการตรวจสอบประเด็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมนั้น พบว่ามีผู้ถูกจับกุมถูกนำตัวไปควบคุมและสอบสวนที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รวมถึงสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับหรือที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
พิจารณาแล้วเห็นว่า การควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี รวมถึงสถานที่อื่นซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่เกิดเหตุหรือที่ถูกจับ ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถูกจับหลายประการ ทั้งการที่ทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ต้องหาได้ในทันที ทำให้การให้ช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งในบางกรณีมีการยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ถูกจับและไม่อนุญาตให้ทนายความนำโทรศัพท์เข้าไปได้ ทำให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย รวมทั้งยังมีการจำกัดการเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติ
2) การแจ้งสิทธิหรือให้สิทธิแก่ผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหา
จากการตรวจสอบพบว่า การดำเนินคดีบางกรณีในระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุม ไม่ยินยอมให้ติดต่อญาติหรือผู้ไว้วางใจเพื่อแจ้งให้ทราบถึงสถานที่ที่ถูกจับ
พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในลักษณะเช่นว่านั้น ย่อมไม่เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
นอกจากนี้ เมื่อขั้นตอนและกระบวนการในลักษณะดังกล่าวไม่มีทนายความเข้าร่วมด้วย อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาอาจถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่าง ๆ อีก เช่น การถูกยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือถูกบังคับให้ลงลายมือชื่อในเอกสาร
กรณีนี้จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควรจะต้องเคารพและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
3) ข้อกล่าวหาและฐานความผิด
จากการตรวจสอบพบว่า มีการดำเนินคดีต่อแกนนำและผู้ชุมนุมในข้อหาและฐานความผิดจากลักษณะและพฤติการณ์อันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการชุมนุมตามพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ จะมีการตั้งข้อหาและฐานความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนคำสั่งของจังหวัดนั้น ๆ ในเรื่องมาตรการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทั้งยังพบมีการดำเนินคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับการจราจร หรือการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมซึ่งใช้สิ่งเทียมอาวุธ เช่น ระเบิดปิงปอง วัตถุติดไฟ (ระเบิดเพลิง) ในข้อหาหรือฐานความผิดซึ่งมักจะมีลักษณะเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา
พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินคดีในข้อหาหรือฐานความผิดข้างต้น ถึงแม้ว่าจะเป็นการดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่อาจส่งผลกระทบต่อกรณีที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
รวมถึงการดำเนินคดีในบางกรณีอาจทำให้เกิดความกลัวที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ตลอดจนเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ เช่น การดำเนินคดีในฐานความผิดเกี่ยวกับการจราจร หรือการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายจึงควรพิจารณาถึงความได้สัดส่วนและความจำเป็นในการใช้มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยกับการดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตลอดจนไม่กระทำการอันใดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ
4) การปล่อยชั่วคราว
จากการตรวจสอบพบว่า จากเหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้น มีทั้งกลุ่มผู้ถูกจับและควบคุมตัวที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกัน กลุ่มที่ถูกนำตัวไปศาลเพื่อขอให้ออกหมายขังแต่ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือไม่มีประกัน และกลุ่มที่ถูกนำตัวไปศาลเพื่อขอให้ออกหมายขังและศาลมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวจะต้องถูกส่งตัวไปฝากขังที่เรือนจำ
และมีกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลที่ว่า พฤติการณ์ในการกระทำความผิดครั้งหลังนั้นเป็นการผิดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวในคดีเดิม หรือกรณีที่ศาลให้เหตุผลไว้ว่าอาจมีการกระทำความผิดซ้ำ
นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกคุมขังที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวด้วยเหตุผลที่มีลักษณะเป็นการเฉพาะตัวและแตกต่างไปจากกรณีอื่น เช่น กรณีของบุคคลต่างด้าวซึ่งศาลไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนจึงเกรงว่าจะหลบหนี และกรณีเยาวชนอายุ 16 ปีซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเนื่องจากไม่มีญาติเดินทางมารับรองการประกันตัว
พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในบางกรณีนั้น ถึงแม้ว่าการมีคำสั่งเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวจะเป็นกรณีการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของศาล แต่การสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวดังกล่าว ควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญแก่หลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด
และหลักการที่ว่า ทุกคนพึงมีสิทธิได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
2.ความเห็นต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
จากการตรวจสอบพบว่า การชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 อยู่ในช่วงเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมเพื่อประท้วงรัฐบาล
มีการตั้งข้อสังเกตว่า การชุมนุมในปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัยของผู้ชุมนุมซึ่งบางส่วนเป็นเด็กและเยาวชนที่มีอายุน้อย โดยมีการแสดงออกถึงความรุนแรงมากขึ้น การตอบโต้จากรัฐเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ปฏิกิริยาของผู้ชุมนุมเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยรูปแบบการชุมนุม
ที่สำคัญในห้วงเวลาดังกล่าวสามารถแยกพิจารณาได้ 3 รูปแบบ คือ 1) รูปแบบของการชุมนุมที่เป็นการประท้วง การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ 2) รูปแบบของการชุมนุมที่เป็นการขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ประท้วง ซึ่งเรียกว่ากิจกรรม “คาร์ม็อบ” (Car Mob) และ “ไบก์ม็อบ” (Bike Mob) และ 3) รูปแบบของการชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนการชุมนุมอย่างชัดเจน
พิจารณาแล้วเห็นว่า ถึงแม้การชุมนุมทางการเมืองจะอยู่ในช่วงเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีการออกข้อกำหนดห้ามการรวมกลุ่มของบุคคลเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันถือเป็นข้อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธได้ตามกฎหมาย แต่การพิจารณาจำกัดเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธควรพิจารณาอย่างเคร่งครัด ซึ่งสามารถพิจารณาได้เป็นรายกรณีไป ตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน
จึงเห็นว่า การชุมนุมในรูปแบบกิจกรรม “คาร์ม็อบ” (Car Mob) และไบก์ม็อบ (Bike Mob) เพื่อมีข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก โดยผู้ชุมนุมขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เคลื่อนตัวไปตามเส้นทางต่าง ๆ ลักษณะการชุมนุมนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายของผู้จัดการชุมนุม
รวมทั้งผู้ชุมนุมในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกทั้งไม่ปรากฏเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมในลักษณะที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลอื่น หรือทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เนื่องจากเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นภายหลังผู้จัดการชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว หรือการใช้ความรุนแรงเชื่อได้ว่า เกิดขึ้นจากมวลชนที่ไม่อยู่ในภายใต้เงื่อนไขการชุมนุม ซึ่งผู้จัดการชุมนุมได้มีความพยายามในการห้ามปรามแล้ว
ส่วนการชุมนุมที่เป็นการประท้วง การเดินขบวนประท้วง และการชุมนุมแบบแฟลชม็อบนั้น การชุมนุมลักษณะนี้โดยทั่วไปยังคงเป็นการชุมนุมที่ไม่มีจุดประสงค์ในการใช้ความรุนแรง เพื่อแสดงออกถึงจุดประสงค์ทางการเมืองในการเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อถึงรัฐบาล แม้ไม่มีการวางมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ผู้ชุมนุมอาจป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยของตนเอง
อีกทั้งตามข้อคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 (General Comment No. 37 on the right of peaceful assembly) เกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Human Rights Committee) ได้ระบุหลักการไว้ว่า การชุมนุมที่มีแต่เพียงการผลักหรือดันกัน หรือการขัดขวางการเคลื่อนที่ของยานพาหนะของผู้คน หรือการขัดขวางการทำกิจวัตรประจำวันไม่ถือว่าเป็นความรุนแรง
จึงเห็นว่า การชุมนุมทั้งสองรูปแบบนี้ถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า การชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมบางส่วนมีการทุบ เตะ ถีบไปที่โล่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ชุมนุมซึ่งสวมใส่หมวกกันน็อกคนหนึ่งได้ใช้ก้อนอิฐทุบเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนนอกเครื่องแบบ การกระทำลักษณะดังกล่าวถือเป็นการใช้ความรุนแรงอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวมิได้สวมใส่เครื่องแบบปฏิบัติหน้าที่จับกุมจนทำให้เกิดเหตุดังกล่าว
สำหรับรูปแบบของการชุมนุมที่ไม่มีกลุ่มหรือแกนนำขับเคลื่อนการชุมนุมอย่างชัดเจน การชุมนุมภายหลังจากที่มีการประกาศยุติการชุมนุมไปแล้ว รวมทั้งการชุมนุมภายหลังล่วงเลยกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนดออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นมวลชนที่ใช้แนวทางการใช้กำลังและสิ่งเทียมอาวุธ เช่น ระเบิดปิงปอง วัตถุติดไฟ (ระเบิดเพลิง)
หรือตอบโต้ด้วยการขว้างปาสิ่งของดังกล่าว ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่การชุมนุม รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของราชการและของผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่การชุมนุมด้วย
การชุมนุมในรูปแบบนี้จึงถือเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง มิใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการดูแลการชุมนุมอาจใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมาย ในการจัดการหรือควบคุมการชุมนุมนั้นได้ตามกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการการใช้กำลังเข้าควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากต้องเป็นไปตามกฎหมายแล้ว ยังต้องคำนึงถึงหลักความเหมาะสมและความได้สัดส่วนเพื่อให้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมได้รับผลกระทบน้อยที่สุดด้วย
โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่มาชุมนุม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน และคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์สูงสุดของเด็ก รวมทั้งควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนโดยใช้วิธีการเปิดพื้นที่พูดคุยและเจรจาเพื่อรับฟังปัญหาของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้
3.ความเห็นต่อผลกระทบและการเยียวยาความเสียหาย
จากการตรวจสอบพบว่า ผลกระทบจากการชุมนุมและสลายการชุมนุมก่อให้เกิดการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ และการบาดเจ็บทางร่างกายและสภาพจิตใจของทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้พักอาศัยใกล้จุดปะทะ รวมทั้งผู้เดินทางผ่านพื้นที่ชุมนุม
ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนหนึ่งเป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนและการใช้สิ่งเทียมอาวุธต่าง ๆ ผลจากแก๊สน้ำตา ความเดือดร้อนจากเสียงรบกวนเป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนานหลายวัน รวมทั้งผลกระทบจากการรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ส่วนตัว และความเสียหายต่อทรัพย์สิน
พิจารณาแล้วเห็นว่า ระบบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองเป็นการเฉพาะที่ชัดเจน ในอดีตหลายครั้งใช้การดำเนินการโดยมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเยียวยาที่แตกต่างกัน
แม้จะมีการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ที่ให้กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำกฎหมายหรือระเบียบ เงื่อนไขและวิธีการช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณี
แต่ปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม มีผลให้ประเทศไทยยังคงไม่มีกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นแนวปฏิบัติหรือมาตรฐานกลางในการพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาทุกกรณี ซึ่งรวมถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
และแม้ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาหลายฉบับซึ่งบางกรณีอาจครอบคลุมที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองได้ แต่ยังพบปัญหาความไม่สะดวกในการเข้าถึงการเยียวยาทั้งในมิติกฎหมาย มิติการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และกลไกการเยียวยาที่มีอยู่ ซึ่งมีผลให้ประชาชนเสียสิทธิในการได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในประเด็นนี้
4.ความเห็นต่อกรณีการคุ้มครองเด็กในสถานการณ์การชุมนุม
ผลจากการตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีการแยกแยะกลุ่มเด็กออกจากกลุ่มผู้ใหญ่ในการชุมนุม รวมทั้งไม่ปฏิบัติต่อเด็กด้วยวิธีการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งในเรื่องการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแลการชุมนุม และปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม
ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเบื้องต้น โดยจัดประชุมเพื่อแสวงหาทางออกและจัดทำข้อเสนอแนะ กรณีสิทธิเด็กในสถานการณ์ชุมนุม (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 และได้มีข้อเสนอแนะในการแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก
รวมถึงการปกป้อง คุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามหนังสือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ สม 0004/2353 – 2355 ลงวันที่ 10 กันยายน 2564 พร้อมทั้งจัดประชุมติดตามผลความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งปรากฏผลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
4.ข้อสรุป
1.ข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องดำเนินการ ดังนี้
1) งดเว้นการใช้ลวดหีบเพลงแถบหนามเป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชน และพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558
2) กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลังในการรักษาความสงบเรียบร้อยใน
การชุมนุมโดยเคร่งครัด และต้องไม่กระทำการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการสร้างเงื่อนไขหรืออาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจนำไปสู่การไม่ให้ความร่วมมือ การตอบโต้ หรือแม้กระทั่งการทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม
3) ปรับปรุงวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนในการใช้กำลังและการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายและหลักสากล ทั้งนี้ ควรมีการกำกับดูแลควบคุมและสั่งการตามลำดับชั้นบังคับบัญชา รวมทั้งต้องกำชับให้ใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมต้องเหมาะสมและพอสมควรแก่เหตุกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม และให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสม ตลอดจนระมัดระวังเพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ
4) เร่งรัดดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อนำตัวบุคคลผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายทุกกรณี รวมทั้งหากการกระทำความผิดเช่นว่านั้นก่อให้เกิดความเสียหายประการใด จะต้องเร่งดำเนินการเยียวยาความเสียหายดังกล่าวตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป
5) งดเว้นการใช้เครื่องพันธนาการในการจับกุมเด็กและเยาวชนทั้งในขณะที่จับกุมและระหว่างควบคุมตัว
6) ห้ามนำตัวเด็กไปไว้ในห้องคุมขัง ในกรณีที่จำเป็นต้องกำหนดสถานที่ควบคุมตัวเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ ในลักษณะที่ไม่ใช่การกักขังในห้องคุมขัง โดยต้องแยกพื้นที่ควบคุมตัวเด็กและเยาวชนต่างหากจากผู้ใหญ่ เช่น สถานฝึกอบรม สถานบำบัดฟื้นฟู หรือสถานที่อื่นที่เหมาะสม ทั้งนี้ เมื่อมีการควบคุมตัวเด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเปิดเผยสถานที่แห่งนั้นให้สาธารณชนทราบโดยทันที โดยพิจารณาภายใต้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชน
7) เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการหรือจัดให้ผู้ถูกจับกุมทุกคนได้รับสิทธิที่พึงมีตามกระบวนการยุติธรรม และควรหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ อันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของผู้ถูกจับกุมในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย เช่น การไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าพบในทันที การจำกัดการเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติ รวมถึงการยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์ติดต่อสื่อสารของผู้ถูกจับกุม ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานฉบับนี้
2.ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
2.1 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1) หลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในการควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการใช้พระราชกำหนดดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันภัยร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคง ไม่อาจนำไปใช้ในการชุมนุมทางการเมืองในลักษณะทั่วไปได้ เพราะอาจก่อให้เกิดการจำกัดหรือลดทอนการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เว้นแต่การชุมนุมนั้นได้แปรเปลี่ยนไปสู่สถานการณ์วิกฤต หรือการจลาจลที่กระทบต่อความมั่นคง
2) เร่งรัดการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบกลางที่กำหนดเงื่อนไขและวิธีการใน
การช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณี โดยมอบหมายกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักกิจการยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาศึกษาและจัดทำกฎหมายดังกล่าว
3) มอบหมายให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงดำเนินการให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกฝ่าย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันและเปิดพื้นที่ในการใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยปราศจากความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ
2.2 ให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ครอบคลุมการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง
โดยให้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ขอรับความช่วยเหลือจากการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเป็นผู้มีสิทธิขอรับความช่วยเหลือ ตามข้อ 9 (5) ของระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในระหว่างการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขและวิธีการ ช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมทุกกรณียังไม่แล้วเสร็จ
2.3 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1) กำหนดแนวทางปฏิบัติให้การควบคุมและจัดการการชุมนุมควรต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ และหลีกเลี่ยงการใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเป็นผู้ควบคุมหรือจัดการการชุมนุม
2) กำชับให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกจับและผู้ต้องหาอย่างเคร่งครัด ทั้งการแจ้งสิทธิและให้สิทธิแก่ผู้ถูกจับและผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
3) กำชับแนวทางปฏิบัติต่อการดำเนินคดีกับแกนนำหรือผู้ชุมนุมอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง โดยให้ดำเนินการอย่างระมัดระวังซึ่งต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนและความจำเป็นตามแต่ละกรณี โดยควรหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาหรือฐานความผิดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ
4) ประชาสัมพันธ์หรือเปิดช่องทางให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถยื่นคำขอให้มีการเยียวยาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
2.4 ให้ศาลยุติธรรมพิจารณากำหนดแนวทางการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการพิจารณาปล่อยชั่วคราว โดยยึดหลักการให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด และหลักการที่ว่า ทุกคนพึงมีสิทธิได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ตามที่รัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย อีกทั้ง ควรพิจารณามาตรการอื่นแทนการคุมขัง เช่น การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM)
3.ข้อเสนอแนะต่อการจัดการชุมนุม
การจัดการชุมนุมต้องเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธและสิ่งเทียมอาวุธ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งสิทธิของบุคคลอื่นและความรับผิดชอบต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากอันตรายจากการชุมนุมทางการเมือง และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเหตุอื่นใด โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชน รวมทั้งควรมีช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล