อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยหนึ่งในผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำจนถึงปัจจุบัน คือ สมการ E=mc2 ในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity Theory) จนทำให้หลายคนเข้าใจไปว่าไอน์สไตน์คือคนที่คิดค้นระเบิดปรมาณู นี่เป็นเพียงหนึ่งในความเข้าใจผิดที่หลายคนรับรู้ และอาจมีอีกหลายเรื่องที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เกี่ยวกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
ไอน์สไตน์ ไม่ได้คิดค้นระเบิดปรมาณูด้วย E=mc2
สมการ E=mc2 เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ของพลังงานและความเร็วแสงซึ่งอยู่ในทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity Theory) ของไอน์สไตน์ และถูกนำไปเชื่อมโยงกับการสร้างระเบิดปรมาณู จนทำให้หลายคนคิดว่าไอน์สไตน์เป็นคนคิดค้นระเบิดปรมาณู แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมการและทฤษฎีของไอน์สไตน์เป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น เพราะคนที่พัฒนาระเบิดปรมาณูนั้น คือ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการแมนแฮตตัน (The Manhattan Project) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ไอน์สไตน์ เริ่มสนใจวิทยาศาสตร์จากเข็มทิศ
ในขณะที่ไอน์สไตน์วัย 5 ขวบนอนป่วยอยู่บนเตียง สิ่งที่เขาได้รับเป็นของขวัญจากพ่อ คือ เข็มทิศแม่เหล็กซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสงสัยว่าทำไมเข็มทิศจึงหันไปทางทิศเหนืออยู่เสมอไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ตาม จึงเป็นความประทับใจแรกเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และกระตุ้นให้เกิดความต้องการหาคำตอบของเขาเรื่อยมา
ไอน์สไตน์ เป็นมังสวิรัติแบบไม่ได้ตั้งใจ
การเลือกเป็นมังสวิรัติของแต่ละคนเกิดจากเหตุผลที่แตกต่างกัน ไอน์สไตน์ก็เช่นเดียวกัน เขาเป็นมังสวิรัติด้วยปัญหาด้านสุขภาพ เพราะเขามีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ทำให้เขาต้องเลิกรับประทานอาหารที่ย่อยยากอย่างพวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เชื่อว่าไอน์สไตน์เลือกที่จะเป็นมังสวิรัติด้วยตัวเขาเอง
ไอน์สไตน์ ไม่ได้มีปัญหาด้านการเรียน
ไอน์สไตน์ มักถูกพูดถึงคนที่โตมาแล้วประสบความสำเร็จแต่มีปัญหาในการเรียนในวัยเด็ก เพราะพูดได้ช้ากว่าเด็กคนอื่น และการพูดซ้ำประโยคเดิม 2 ครั้งอยู่เสมอ ทำให้บางคนเชื่อว่าไอน์สไตน์มีปัญหาในการสื่อสารและเรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กคนอื่น แต่ท้ายที่สุดเขาได้กลายเป็นอัจฉริยะเมื่อโตขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับการเรียนของไอน์สไตน์ในวัยเด็ก คงไม่ได้เป็นปัญหาไปทั้งหมด เพราะสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาดูเป็นเด็กเรียนไม่เก่งน่าจะมาจากระบบการนับเกรดของโรงเรียนในช่วงหนึ่ง และเขาไม่ได้เก่งเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์อย่างเดียว แต่ยังมีวิชาเรียนอีกหลายวิชาที่เขาชื่นชอบ
ที่มาข้อมูล: Interesting Engineering, Mental Floss, Inventionland
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech