วันนี้ (28 ธ.ค.2564) ดร.กณิตา อุ่ยถาวร ผอ.ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังจากศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ได้รับการประสานงานจากกองทัพอากาศนำชิ้นส่วนเครื่องบิน F-5 ที่ตกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.ลพบุรี เพื่อนำมาตรวจสอบหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า เนื่องจากกองทัพอากาศรายงานเหตุเครื่องบินตก และสันนิษฐานว่าเกิดจากการบินชนนกขนาดใหญ่ จนทำให้เครื่องตก และนักบินได้รับบาดเจ็บ เพราะจากรายงานเป็นการฝึกบินต่ำ จึงมีโอกาสเผชิญนกที่บินได้
ผลดีเอ็นเอกระดูก-เลือดใน F-5 ตกเป็น “นกปากห่าง”
ดร.กณิตา กล่าวว่า การหาคำตอบครั้งนี้ถือว่ามีความท้าทายงานนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า และเป็นงานแรก นอกเหนือการนำไปใช้ประกอบในคดีสัตว์ป่า หาคนทำผิดไปลงโทษตามกฎหมาย แต่งานชิ้นนี้ ต้องหาว่าเป็นสัตว์ชนิดไหนที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบิน F-5 ตกได้ ทางทีมต้องค้นหาข้อมูลต่างๆ และข้อสันนิษฐาน ประกอบการทำงานในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และทำข้อเสนอแนะแก้ปัญหาที่เหมาะสมในอนาคต
ภาพ: Kanita Ouitavon
ชิ้นส่วน F-5 ที่ทางกองทัพอากาศ นำมาให้เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. มีเศษกระดูกของสัตว์บางชนิดที่เก็บตัวอย่างได้เท่าเสี้ยวปลายเล็บ หรือประมาณ 25 มม. และอีกตัวอย่างเป็นหยดเลือดที่ติดค้างอยู่ หลังจากนำไปสังเคราะห์ดีเอ็นเอในห้องปฏิบัติการ ยืนยันผลว่าเป็นดีเอ็นเอของนกปากห่าง
แนะศึกษาเส้นทางบินเสี่ยงนกอพยพเลี่ยง
ผอ.ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบทาง การให้กับทางกองทัพอากาศแล้วว่า ตัวอย่างที่นำมาตรวจพบว่าเป็นนกปากห่าง ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ F-5 ตก แต่ไม่สามารถแยกแยะว่าเป็นนกเพศไหน เนื่องจากการปะทะกันด้วยความแรงและเร็ว ทำให้ชิ้นเนื้อแหลกเหลว ไม่เจอแม้แต่เส้นขนนกตกหลงเหลือใน F-5
ผอ.ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่นายไกรรัตน์ เอี่ยมอำไพ จากกลุ่มวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ พบว่านกปากห่าง เป็นนกขนาดใหญ่ เดิมเคยเป็นนกอพยพจากบังกลาเทศ อินเดีย และอพยพเข้าไทยมาตั้งแต่ปี 2547
จากนั้นพบมีการปรับพฤติกรรม และตั้งถิ่นอาศัยในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตั้งแต่ จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี จนกลายเป็นนกประจำถิ่น มีการแพร่ประชากรจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯ เคยมีการทำแผนที่อาศัยของนกอพยพกลุ่มนี้ไว้ เนื่องจากเคยมีรายงานระบาดของไข้หวัดนก
ข้อค้นพบในช่วง10 ปีพบนกปากห่างเริ่มกระจายทำรังวางไข่ หรือหาถิ่นอาศัยใหม่ในพื้นที่ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นกปากห่างเปลี่ยนเส้นทางการบิน และกระจายไปหาถิ่นอาศัยใหม่
ดร.กณิตา กล่าวอีกว่า โอกาสที่จะมีนกปากห่างเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนกิจกรรมของมนุษย์ เช่นกิจกรรมการฝึกบินของกองทัพอากาศ จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีกได้ในอนาคต ดังนั้นอาจจะต้องหาทางจัดการปัญหา และควรต้องศึกษานกปากห่างในเชิงนิเวศวิทยาเพิ่มเติม
น่าสังเกตว่าการอพยพในช่วงฤดูหนาวช่วงระหว่าง พ.ย.-ก.พ. เป็นช่วงที่เกิดเหตุ F-5 เป็นช่วงเริ่มต้นทำรังวางไข่ในพื้นที่จ.ลพบุรี เพราะถ้ามีข้อมูลนี้ ก็อาจจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งนก และคน
สำหรับอุบัติเหตุเครื่องบินขับไล่ F-5 จากกองบิน 21 จ.อุบลราชธานี ตกในพื้นที่ ต.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ระหว่างกองทัพอากาศจัดแข่งขันการปฏิบัติการทางอากาศยุทธวิธี มีนักบินทำการบิน 1 คน สามารถดีดตัวออกจากเครื่องบินได้รับบาดเจ็บ
โดยนักบิน ระบุว่า มีวัตถุแข็งมาชน จึงสละเครื่องบิน แต่เพราะด้วยความเร็วของเครื่องบิน บวกกับความแรงของลม ที่มีความเร็วถึง 400 น็อต หรือประมาณ 1,000 กม.ต่อชม.ที่ทะลุผ่านเข้ามายังห้องนักบิน ทำให้ไม่สามารถควบคุมเครื่องได้ จึงตัดสินใจดีดตัวออกจากเครื่องบิน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอ.เผยเครื่องบิน F-5 ตก คาดนกใหญ่บินชน
ด่วน! เครื่องบิน F5 ตกที่ อ.ชัยบาดาล ขณะฝึกทางยุทธวิธี