ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สปสช.เคาะ "ผู้ป่วยไตวาย" สิทธิบัตรทองฟอกเลือดได้ไม่ต้องจ่ายเอง

สังคม
7 ม.ค. 65
12:40
298
Logo Thai PBS
สปสช.เคาะ "ผู้ป่วยไตวาย" สิทธิบัตรทองฟอกเลือดได้ไม่ต้องจ่ายเอง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ที่ประชุมบอร์ด สปสช.เห็นชอบให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสิทธิบัตรทองที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง เลือกใช้วิธีล้างไตด้วยการฟอกเลือดได้โดยไม่จ่ายเงินเอง เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ. 2565 นี้เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 1/2565 มีมติเห็นชอบข้อเสนอการช่วยเหลือค่าบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง และเตรียมเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธาน บอร์ด สปสช. กล่าวว่า ได้รับฟังปัญหาจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่แพทย์เลือกวิธีการล้างไตทางช่องท้อง (PD) ให้ แต่ตัวผู้ป่วยต้องการใช้วิธีล้างไตด้วยการฟอกเลือด (HD) จึงต้องแบกรับภาระค่าฟอกเลือดเองครั้งละ 1,500 บาท จึงนำเรื่องนี้หารือกับเลขาธิการ สปสช. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องจ่ายเงินเอง ซึ่ง สปสช. ได้ทำการศึกษารายละเอียดแล้วพบว่าสามารถทำได้

ในปี 2565 เป็นการใช้งบเหลือจ่าย แต่ในปีถัดๆ ไป จะต้องพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุมการดำเนินการในส่วนนี้ด้วย

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลักการในการพิจารณาเรื่องนี้ คือการชดเชยบริการในส่วนที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเองเพื่อป้องกันภาวะล้มละลายทางการเงิน โดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient centered care)

สามารถร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการล้างไตกับแพทย์ โดยคํานึงถึงเศรษฐานะ พยาธิสภาพของโรค ปัจจัยทางสังคม ความเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนทางอ้อม (indirect cost) ที่จะเกิดขึ้นในการรับบริการด้วย ได้แก่ ค่าเดินทางในการมารับบริการที่หน่วยบริการ ตลอดจนความจําเป็นและคุณภาพบริการที่ผู้ป่วยจะได้รับ

ขณะเดียวกัน นอกจากเสนอยกเลิกการชดเชยบริการในส่วนที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเองแล้ว สปสช. ยังเสนอให้ต่อรองราคาลดต้นทุนบริการล้างไตในทุกวิธีเพื่อลดภาระงบประมาณ เพิ่มจำนวนหน่วยบริการล้างไตและการเพิ่มบุคลากรด้านโรคไตในระบบ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องมาทำการฟอกเลือดเพิ่มขึ้น มีกลไกกำกับในกรณีที่ผู้ป่วยเปลี่ยนจากการล้างไตทางช่องท้องมาเป็นการฟอกเลือด (shift mode) เพื่อไม่ให้เพิ่มจนระบบบริการรองรับไม่ทัน ตลอดจนสนับสนุน เร่งรัด มาตรการป้องกันและชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่

ผู้ป่วยล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือดกว่า 2.4 หมื่นคน

ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ล้างไตด้วยวิธีฟอกเลือด 24,256 คน และมีอีก 6,546 คน ที่ไม่สมัครใจล้างไตทางช่องท้องแล้วเลือกจ่ายเงินเอง รวมเป็น 30,802 คน

ขณะที่ผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องมี 32,892 คน หากลบผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไปใช้วิธีการฟอกเลือดออก คาดว่าจะมีผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอยู่ประมาณ 27,958 คน ซึ่งต้นทุนการชดเชยค่าบริการ

สำหรับการฟอกเลือดในปัจจุบัน สปสช.จ่ายอยู่ที่ 197,700 บาท/คน ขณะที่ต้นทุนการล้างไตทางหน้าท้องอยู่ที่ 227,300 บาท/คน หากใช้ระบบปัจจุบัน จะมีค่าใช้จ่ายในการชดเชยค่าบริการทั้งการล้างไตทางหน้าท้องและฟอกเลือดรวมกัน 12,271.8 ล้านบาท

แต่หากมีการยกเลิกในส่วนที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง คาดว่าจะใช้งบประมาณ 13,419.9 ล้านบาท หรือมีส่วนต่าง 1,148.1 ล้านบาท เมื่อหักงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับค่ายาเพิ่มเม็ดเลือด (EPO) ออกไป จะมีภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด 1,079.9 ล้านบาท และเมื่อปรับลดงบประมาณสำหรับดำเนินการระยะ 8 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ย. 2565 เท่ากับเหลือภาระงบประมาณที่ต้องใช้ทั้งหมด 719.9 ล้านบาท

ขณะที่แหล่งงบประมาณที่ใช้ สปสช.มีงบเหลือจ่ายปี 2564 ที่ไม่มีภาระผูกพัน 968.32 ล้านบาท เมื่อกันงบประมาณจ่ายสิทธิประโยชน์ใหม่ 5 รายการรวม 238.59 ล้านบาท ออกไปแล้ว จะเหลืองบประมาณที่ไม่มีภาระผูกพัน 729.73 ล้านบาท เมื่อใช้จ่ายกรณียกเลิกในส่วนที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเองไป 719.9 ล้านบาท จะยังคงเหลืองบประมาณที่ไม่มีภาระผูกพันอีก 9.83 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการ สปสช. พิจารณาตามหลักการและเหตุผลข้างต้นแล้ว จึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการให้ชดเชยค่าบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ไม่สมัครใจรับบริการล้างไตทางช่องท้อง โดยสำนักงาน สปสช.จะนำไปดำเนินการทันทีและคาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง