เมื่อดูจำนวน ส.ส.ในสังกัดของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่มีถึง 21 คน ถือเป็นกลุ่ม ส.ส. ที่มีน้ำหนักมากพอที่จะเขย่าเสถียรภาพของรัฐบาล จึงเป็นไปได้ว่า ข้อแม้ของการสนับสนุนรัฐบาลนับจากนี้ อาจต้องแลกกับเก้าอี้ "รัฐมนตรีว่าการ" ถึง 2 เก้าอี้
"เอกภาพและเสถียรภาพ" ในพรรคพลังประชารัฐ อาจเป็นไปตามที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อ้างอิงว่าเป็นเหตุผลให้ต้องแตกหักและขับ "21 ส.ส." ซึ่งนำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากพรรคจริง
แต่เมื่อมาตรวจสอบเสียง ส.ส.ในพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล รวม 17 พรรคการเมือง มีเสียง ส.ส.ในมือ 267 เสียง ทิ้งห่างพรรคร่วมฝ่ายค้าน มากถึง 59 เสียง ใน 7 พรรคฝ่ายค้านที่มีอยู่ 208 เสียง ซึ่งเดิมไม่น่าห่วง และจะไม่ต้องห่วง หาก 21 ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ยังคงรักษาสัญญาใจ แค่แยกไปสังกัดพรรคใหม่ ยังคงสถานะพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล
แต่นับจากนี้ หากการต่อรองทางการเมือง "รมว." 2 ตำแหน่ง กับสัดส่วน ส.ส. 21 เสียงในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เกิดขึ้นจริง โจทย์ที่ตามมา คือ กลุ่มก้อนนี้มีมากกว่า 21 ส.ส. ยังคงมีเสียง ส.ส.จากกลุ่มพรรคเล็กที่ยึดโยงกับ ร.อ.ธรรมนัส ด้วย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน,พรรคพลังชาติไทย,พรรคประชาภิวัฒน์,พรรคครูไทยเพื่อประชาชน,พรรคพลเมืองไทย,พรรคประชาธิปไตยใหม่,พรรคไทยรักธรรม,พรรคเพื่อชาติไทย และพรรคไทยศรีวิไลย์ อีกพรรคละ 1 คน รวม 10 เสียง
ฉากทัศน์ทางการเมือง จึงหมายถึงการเขย่าเสถียรภาพรัฐบาล หาก 21 บวก 10 เสียงนี้ เคลื่อนตัวไปยึดโยงกับพรรคร่วมฝ่ายค้านจะทำให้พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล มีเสียง 236 เสียง และเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมากกว่า 3 เสียง แบบนี้เรียกว่า รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งภาวะนี้ อาจไม่ใช่ "สภาฯล่มซ้ำซาก หรือ สภาฯ หวิดล่ม อยู่บ่อยครั้งเท่านั้น ร่างกฎหมายการเงิน หรือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจทำให้มตินั้นๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้