ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พิทักษ์ป่า" ผู้ปิดทองหลังพระ ในวันถูกตัดเงินเดือน

สิ่งแวดล้อม
22 ม.ค. 65
07:40
1,128
Logo Thai PBS
"พิทักษ์ป่า" ผู้ปิดทองหลังพระ ในวันถูกตัดเงินเดือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เสียงสะท้อนจาก "ผู้พิทักษ์ป่า" ในวันถูกลดเงินเดือน-เบี้ยเลี้ยง หลายคนเดือดร้อนหนักเพราะเป็นเสาหลักของครอบครัว บางคนเหลือเงินเดือนเท่าค่าผ่อนรถยนต์ แต่ยอมทำงานเสี่ยงเพื่ออุดมการณ์ ปกป้องป่าไม้-สัตว์ป่า
"ยอมรับว่าท้อเวลาเหนื่อย ๆ แต่เลือกที่จะอดทน ยังไม่ถอย หวังว่าไม่นานจะผ่านวิกฤตครั้งนี้"

เสียงสะท้อนจากผู้พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี หลังถูกลดเงินเดือน-เบี้ยเลี้ยง ขณะที่อีกหลายคนต้องถูกเลิกจ้าง สวนทางปัญหาบุกรุกพื้นที่ และล่าสัตว์ป่าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

"ศรณรงค์ คุ้มทรัพย์" หรือเอ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อุทยานแห่งชาติเขาแหลม น้องเล็กที่สุดในทีมลาดตระเวนพิทักษ์ป่าเขาแหลม ลุกขึ้นมาจัดกระเป๋าหนักกว่า 20 กิโลกรัม ใส่อุปกรณ์จำเป็นทั้งฟลายซีท เปลสนาม ของสด เครื่องปรุงรส มีด ไฟฉาย และชุดเปลี่ยนเมื่อพักค้างในป่า โดยมีแม่คอยให้กำลังใจลูกชาย ห่อข้าวสวยร้อน ๆ กับแกงส้มมะรุมของโปรด เป็นอาหารมื้อเช้า ก่อนออกปฏิบัติภารกิจท่ามกลางความเสี่ยงในป่า นาน 5 วัน  

ศรณรงค์ ทำงานพิทักษ์ป่าเข้าสู่ปีที่ 5 ด้วยความผูกพันกับป่าไม้ สัตว์ป่า ตามรอยครอบครัวทั้งพ่อ พี่ชาย ที่ทำหน้าที่นี้เช่นเดียวกัน เขาบอกเหตุผลที่ยังทำงานต่อไป แม้จะถูกลดเงินเดือนจาก 9,000 บาท เหลือ 7,500 บาท เบี้ยเลี้ยงจาก 2,800 บาท เหลือ 1,000 บาท ด้วยความหวังว่าไม่นานจะผ่านพ้นวิฤตนี้ และได้ปรับขึ้นเงินเดือนเท่าเดิมก็ยังดี

ผมออกรถมา ผ่อนเดือนละ 7,500 บาท จากเงินเดือนที่เหลือใช้ ตอนนี้เหลือเท่ากับเงินผ่อนรถ ท้อบ้างเวลาเหนื่อย

 

ศรณรงค์ บอกว่า ทุกครั้งที่เข้าป่าจะได้รับพรจากพ่อแม่ว่าให้มีสติและอย่าประมาท เมื่อกลับออกมาอย่างปลอดภัย สิ่งแรกที่ได้รับคืออ้อมกอดและรอยยิ้มจากพ่อแม่ 

เซฟค่าเสบียง กินหยวกกล้วยใส่ปลากระป๋อง

แต่ละเดือนเขาแทบไม่เหลือเงินใช้จ่ายอย่างอื่น เพราะต้องผ่อนรถยนต์เดือนละ 7,500 บาท ส่วนค่าเบี้ยเลี้ยงถูกนำไปใช้ซื้อของเป็นเสบียงลาดตระเวน เมื่อข้าวของแพงขึ้น หมูราคากิโลกรัมละ 200 บาท ก็ต้องลดอาหารที่ไม่จำเป็น ซื้อเฉพาะเครื่องปรุงรส เกลือ น้ำตาล หมูจาก 2 กิโลกรัม ก็ต้องลดปริมาณลงเหลือ 1 กิโลกรัม เปลี่ยนเป็นซื้อไก่ที่ราคาถูกกว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ส่วนข้าวสาร 5 วัน ใช้วันละ 1 กิโลกรัม สำหรับชุดลาดตระเวน 5-6 คน

ตอนนี้เงินเหลือน้อยต้องประหยัด ส่วนอื่น ๆ หากินในป่า เช่น ผักกูด ปลีกล้วย หยวกกล้วยใส่ปลากระป๋องให้ได้ปริมาณอาหารเยอะขึ้น

 

ศรณรงค์ บอกว่า เข้าป่ารอบนี้ เตรียมโชว์เมนูเด็ดต้มยำตีนไก่ ผัดเผ็ดไก่ ส่วนของหวานเป็นถั่วเขียวต้มน้ำตาล ซึ่งเพื่อน ๆ พี่ ๆ ชื่นชอบ โดยแต่ละวันพวกเขาจะทำอาหารกิน 2 มื้อ ส่วนช่วงกลางวันจะประทังชีวิตด้วยการกินมาม่าดิบ ลดการเสียเวลาของการเดินเท้าลาดตระเวน

 

เช่นเดียวกับ "สมชาย วงศ์หา" ที่ต้องผ่อนรถจักรยานยนต์ เดือนละ 1,700 บาท ใช้เดินทางมาทำงาน ก่อนหน้านี้เขาเคยสำรองเงินเดือนละ 1,000-2,000 บาท สำหรับใช้ในเดือนถัดไป ยังไม่รวมกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน จึงอยากให้ดูแลสวัสดิการ และประกันภัย

 

ขณะที่การลาดตระเวนสำรวจแล้วไม่พบปัจจัยใจคุกคาม ทุกคนในทีมจะล้อมวงกินข้าวร่วมกันเหมือนพี่น้อง ซึ่งในช่วง 8 ชั่วโมงจะกินอาหาร 2 มื้อหลัก ส่วนกลางวันกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เรียกว่าพอประทังชีวิต เพราะบางครั้งเดินข้ามเขาไปไกลก็หมดแรง แต่ภูมิใจที่ได้ดูแลป่า

เดือดร้อนสุดรอบ 7 ปี แต่ยืนหยัดเพื่อป่าไม้-สัตว์ป่า

ขณะที่ ทองหล่อ คนบุญ ทำงานพิทักษ์ป่าเข้าสู่ปีที่ 7 เล่าว่า ตนเองเป็นเสาหลักของบ้าน จึงได้รับผลกระทบอย่างหนักกรณีถูกปรับลดเงินเดือน แต่ยืนหยัดที่จะอยู่ต่อเพื่ออุดมการณ์ แม้เผชิญความเสี่ยงอันตรายจากพราน สัตว์ป่า น้ำป่า เพราะการดำรงชีพในป่าไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเคยเกือบไม่รอดชีวิตจากการกินเห็ดป่า ทำให้อาเจียน ท้องเสียรุนแรง เพื่อนร่วมทีมต้องช่วยพยุงกันออกมาจากป่าและส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานหลายวัน

รายได้มาจากผมคนเดียว มีลูก 3 คน ชักหน้าไม่ถึงหลัง ค่าเสบียงโดนลดอีก ตอนนี้แย่มาก เดือดร้อนสุด ๆ เลยครับตอนนี้ แต่ที่อยู่ได้เพราะใจรักป่าไม้ อยากดูแลป่าไม้ สัตว์ป่า อยู่เพื่ออุดมการณ์

เพื่อนร่วมงาน "จมน้ำตาย" ระหว่างลาดตระเวน

ทองหล่อ เล่าความรู้สึกสะเทือนใจเมื่อต้องสูญเสียเพื่อนร่วมงานจากการจมน้ำ ว่า ในคืนสุดท้ายของการลาดตระเวนรอบนั้น ช่วงเย็นเจ้าหน้าที่ยังหาที่พักไม่ได้ และน้องในทีมคนหนึ่งได้อาสาว่ายข้ามไปอีกฝั่งเพื่อนำเชือกไปผูกให้ทีมเดินข้ามลำน้ำอย่างปลอดภัย แต่ฝนตกหนักและกระแสน้ำแรงได้ซัดน้องในทีมจมน้ำ พวกเขาพยายามดึงเชือกและทำ CPR แต่ไม่ทัน

ความเสี่ยงทั้งช่วงหน้าฝน ลื่นล้ม น้ำป่า หน้าแล้งที่น้ำน้อย บางคนติดเชื้อเสียชีวิตจากการกินน้ำในป่า

ปี 64 สูญเสีย "ผู้พิทักษ์ป่า" 26 คน

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ไทยมีผู้พิทักษ์ป่า 14,700 คน ดูแลพื้นที่ป่า 102,484,072 ไร่ หรือคิดเป็น 31.68% ของประเทศ โดยกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า พบว่า ปี 2564 มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ รวม 26 คน ทั้งการปะทะกับพรานล่าสัตว์ป่า อุบัติเหตุ และโรคภัยระหว่างการลาดตระเวน 

ระยะเวลา 1 เดือน ผู้พิทักษ์ต้องลาดตระเวนทางบก ทางน้ำ อย่างน้อย 14 วัน ระยะทาง 60-100 กิโลเมตร เฉลี่ย 1 วันจะเดินลาดตระเวนให้ได้ 6-8 ชั่วโมง เนื่องจากมีจีพีเอสบันทึกเส้นทางทั้งหมด โดยตรวจสอบรอยเท้าสัตว์ป่า เสือ กระทิง หมูป่า วัดขนาดต้นไม้ใหญ่ บันทึกพิกัดเป็นข้อมูลต่อยอดดูแลทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งตรวจสอบร่องรอยภัยคุกคาม การบุกรุกพื้นที่ 

 

เจ้าหน้าที่ "พิทักษ์ป่า" แม้จะเป็นเพียงกลุ่มคนเล็ก ๆ ในภารกิจท่ามกลางความเสี่ยง ไร้สวัสดิการ ทำหน้าที่ปกป้องผืนป่าไทยกว่า 102,484,072 ไร่ แต่ผลกระทบจากการลดเงินเดือน ซึ่งบั่นทอนขวัญกำลังใจของพวกเขาเป็นอย่างมาก คงจะดีไม่น้อยหากได้รับการเหลียวแล และช่วยเหลือพวกเขาให้สามารถปฏิบัติภารกิจปกป้องผืนป่าไทยด้วยขวัญกำลังใจที่ดีกว่านี้

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหตุผลเลิกจ้าง "ผู้พิทักษ์ป่า" 1,731 คน ยอมหั่นเงินเดือน 25% 

ขวัญเสีย! "พิทักษ์ป่า" ทยอยลาออก เร่งของบกลางช่วย 

ร้องนายกฯ ทบทวนหั่นงบฯ ทส. เลิกจ้าง "ผู้พิทักษ์ป่า" 50% 

"ติ๊ก-เจษฎาภรณ์" กังขาตัดงบพิทักษ์ป่า-ข่าวดีอาจได้งบกลาง 400 ล้าน 

"วราวุธ" เร่งของบกลาง จ้างงานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง