ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

1 ปี "รัฐประหารเมียนมา" สู่สงครามปฏิวัติประชาชน

ต่างประเทศ
1 ก.พ. 65
19:35
516
Logo Thai PBS
1 ปี "รัฐประหารเมียนมา" สู่สงครามปฏิวัติประชาชน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครบรอบ 1 ปี รัฐประหารเมียนมา เหมือนว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หลังจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลคู่ขนานของฝ่ายพลเรือน ประกาศเดินหน้าทำสงครามกับรัฐบาลทหาร

ในวาระครบรอบ 1 ปี ของการทำรัฐประหาร กลุ่มผู้ประท้วงยังคงเดินหน้าแสดงพลังต่อต้านกองทัพในหลายเมืองทั่วประเทศ โดยกลุ่มต่อต้านรัฐประหารในเมืองมัณฑะเลย์เดินขบวนประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนท้าทายคำขู่ของทางการเมียนมา

ส่วนบรรยากาศในนครย่างกุ้งเงียบเหงากว่าปกติ หลังจากธุรกิจห้างร้าน รวมทั้งประชาชนร่วมกิจกรรมประท้วงเงียบตลอดทั้งวัน ขณะที่กองทัพเมียนมาเผยภาพกลุ่มผู้สนับสนุนกองทัพจำนวนหลายพันคนร่วมเดินขบวนให้กำลังใจรัฐบาลทหารในกรุงเนปีดอ 


การทำรัฐประหารเมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 1 ก.พ.ปีที่แล้ว เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้เมียนมากลับเข้าสู่ยุคเผด็จการอีกครั้ง นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยย้อนมองผลกระทบจากการรัฐประหารต่อการใช้ชีวิตของชาวเมียนมา ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง พบว่า การใช้ความรุนแรงของกองทัพในรอบ 1 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน โดยองค์กรการกุศลด้านการช่วยเหลือเด็ก Save the Children เปิดเผยว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีเด็กรวมอยู่ด้วยมากกว่า 70 คน


ขณะที่ประชาชนอีกหลายพันคนถูกคุมขัง รวมถึง ออง ซาน ซู จี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ และสมาชิกพรรค NLD อีกมากกว่า 600 คน ซึ่งการประกาศสงครามปฏิวัติกับรัฐบาล ทหารรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ตอกย้ำว่า ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น


ขณะที่ ผศ.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ในสงครามปฏิวัติครั้งนี้ว่า การแก้ปัญหาความไม่สงบภายในเมียนมากลายเป็นเผือกร้อนของกัมพูชาที่นั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนในปีนี้


อย่างไรก็ตาม การเดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เมื่อเดือน ม.ค.ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนการเจรจากับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอในการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งอาเซียนควรเจรจากับกลุ่มอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความสมดุลมากที่สุด


ด้านสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยโนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านเมียนมา ได้ประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายและทำงานร่วมกับอาเซียน สิ่งที่น่าติดตามต่อไป คือ การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของนานาชาติจะคลายความรุนแรงในเมียนมาได้บ้างหรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง