ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชัดที่ดิน "สมปอง" อยู่ในป่าสงวนฯ เร่งหาชื่อใครครอบครองตัวจริง

สิ่งแวดล้อม
9 ก.พ. 65
12:19
1,563
Logo Thai PBS
ชัดที่ดิน "สมปอง" อยู่ในป่าสงวนฯ เร่งหาชื่อใครครอบครองตัวจริง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมป่าไม้ เร่งตรวจสอบชื่อคนครอบครองที่ดินในป่าสงวนฯ ป่าซำผักหนาม จ.ชัยภูมิ ปม "สมปอง" กว้านซื้อที่ดิน 300 ไร่ พบพิกัด 200 ไร่ 6 แปลงอยู่ในป่า ปลูกยางพารา-มีเพิงพัก "ศรีสุวรรณ" จี้เอาผิด-ยึดคืน ส่อเกินเงื่อนไขอนุโลม 20 ไร่ ตามมติครม. 30 มิ.ย.2541

วันนี้ (9 ก.พ.2565) เวลา 10.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธณรมนูญไทย ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อขอให้ตรวจสอบที่ดินของครอบครัวนายสมปอง นครไธสง หรือทิดสมปองว่า มีแปลงใดหรือส่วนใดบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าซำผักหนาม อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพิ่มเติมหรือไม่

นายสุรชัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบของสำนักทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) และศูนย์ประสานงานป่าไม้ชัยภูมิ เข้าตรวจสอบพิกัดพื้นที่ 6 แปลง จากทั้งหมด 11 แปลงพบว่าที่ดินประมาณ 200 ไร่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าซำผักหนาม

 

และบางส่วนเป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดการที่ดินให้ชุมชนตามนโยบายของ คทช. เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าว สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ส่งพื้นที่คืนให้กับกรมป่าไม้เมื่อปี 2539 เนื่องจากมีสภาพไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม

ตรวจเบื้องต้น 6 แปลงจาก 11 แปลงพบอยู่ในเขตป่าสงวน 200 ไร่ และสอบถามผู้นำชุมชนเองก็ไม่รู้ว่าชื่อใครครอบครอง ใช้ประโยชน์และได้รับอนุญาตหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่พบปลูกยางพารา และมีสิ่งปลูกสร้างเพิงพัก


รอตรวจรายชื่อใครครอบครองที่ดิน-เอาผิด

เมื่อถามว่า นายสมปอง อ้างว่าที่ดินบางส่วนที่ถูกตรวจสอบ 300 ไร่เป็นของพี่น้องครอบครัว นายสุรชัยกล่าวว่า ตอนนี้กรมป่าไม้ ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นดินที่ของใครที่อ้างมาครอบครอง และมีสิทธิครอบครองหรือไม่ และตัวบุคคลเป็นใคร

ขั้นตอนจากนี้ จะต้องตรวจรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะการลงพื้นที่วันแรกไม่มีใครมาแสดงเอกสารเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่เบื้องต้นพบว่าอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ

หากพบรายชื่อผู้ครอบครองชัดเจน ก็จะตรวจว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ หรือบุคคลนั้นมีสิทธิได้รับอนุญาตหรือไม่ ถ้าพบกระทำผิดจะมีโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ม.14 จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท แต่ถ้ามีการกระทำผิดเกิน 25 ไร่ขึ้นไป จำคุก 4-20 ปี ปรับ 200,00-1,000,000 บาท


เมื่อถามว่าแปลงอื่นๆ มีการบุกรุกด้วยหรือไม่ เพราะหากส่งคืนพื้นจาก ส.ป.ก.เหตุใดจึงปล่อยให้มีการบุกรุก อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า พื้นที่มีหลายประเภท บางแห่งเมื่อรับมอบมาแล้วก็นำมาฟื้นฟูสภาพพื้นที่ แต่บางส่วนก็นำมาจัดให้ชาวบ้านอยู่ก่อน 30 มิ.ย.2541 ทำกินและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และขณะนี้กำลังนำมาจัดเป็นที่ดิน คทช.ก็จะให้สิทธิชาวบ้านตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 ก่อน และจะให้สิทธิคนละไม่เกิน 20 ไร่

ศรีสุวรรณจี้ใช้มาตรฐานเดียวเคส ส.ส.ราชบุรี

นายศรีสุวรรณ  กล่าวว่า พื้นที่ อ.คอนสาร ทั้งอำเภอถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 มาตั้งแต่ปี 2516 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 5-8 ต่อมาได้มีการมอบที่ดินดังกล่าวไปให้กับ สปก. เพื่อจัดสรรเป็นที่ทำกิน เนื่องจากบางพื้นที่อาจมีการครอบครองทำประโยชน์ของชาวบ้าน

สปก.จัดสรรเป็นที่ทำกินให้เกษตรกร ตั้งแต่ปี 2538-2539 เป็นต้นมา แต่พื้นที่บางส่วนยังมีสภาพเป็นป่า ไม่เหมาะสมทำการเกษตร จึงส่งคืนมาให้กรมป่าไม้ดูแลมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกรณีที่เลขาฯ ส.ป.ก.ตรวจสอบพบว่ามีการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.เพียง 7 ไร่ นอกจากนั้นเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

ชี้ชัดว่าถ้าไม่อยู่ในพื้นที่ สปก. นอกนั้นต้องเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ ทั้งหมด

ทั้งนี้ ต้องการให้กรมป่าไม้เข้าไปตรวจสอบโดยละเอียดทั้งหมด หากพบว่าครอบครองโดยมิชอบก็ต้องเรียกคืนพื้นที่ และดำเนินคดีตามกฎหมาย เช่นเดียวกับเคส ส.ส.ราชบุรี เพราะการยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดทางอาญา

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ ปี 2507 มาตรา 14 ระบุชัดเจนว่าผู้ใดเข้าไปแผ่วถางทำลายป่าไม้ย่อมมีความผิดตามกฎหมาย อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำลายป่าไม้หวงห้าม หรือแหล่งต้นน้ำลำธาร และครอบครองเกินกว่า 25 ไร่ มีอัตราโทษตั้งแต่ 4-20 ปี ปรับ 200,000-1,000,000 บาท เพราะพื้นที่ดังกล่าวบางส่วนก็มีการให้อยู่ตามมติ ครม.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบที่ดิน "สมปอง" อยู่ในเขต สปก. 7 ไร่

กรมป่าไม้ ตรวจที่ดิน “สมปอง” พบ 200 ไร่รุกป่าซำผักหนาม

เตรียมยื่น "กรมป่าไม้-ปปง." ตรวจสอบปม "สมปอง" ซื้อที่ดิน 300 ไร่

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง