วันนี้ (23 ก.พ.2565) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และนางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านอาหารเพื่อสัตว์ป่า โดยมีนางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมเป็นพยาน
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กล่าวว่า สถานการณ์ COVID-19 กรมอุทยานฯ ถูกตัดงบฯ ส่วนหนึ่งออกไปจากงบฯ ปกติ ทำให้ได้รับผลกระทบทั้งผู้พิทักษ์ป่า และสัตว์ป่า รวมทั้งการจัดเก็บเงินรายได้ลดลง ทั้งในส่วนกรมอุทยานฯ และสำนักงานอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้เป็นค่าอาหาร ค่าสวัสดิการเจ้าหน้าที่
ปัจจุบันกรมอุทยานฯ รับผิดชอบดูแลสัตว์ป่าพ่อแม่พันธุ์ สัตว์ป่าของกลาง และสัตว์ป่าจากกรณีแก้ไขปัญหา ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ในขณะที่งบประมาณในการดูแลมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งการสนับสนุนด้านอาหารเพื่อสัตว์ป่าจากบริษัทสยามแม็คโครฯ ส่งต่ออาหารที่ยังรับประทานได้ หรือเรียกว่า “อาหารส่วนเกิน” (Food Waste) โดยนำอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด ที่เหลือจากการจำหน่ายส่งต่อให้หน่วยงาน ได้แก่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่ง และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก 1 แห่ง รวม 27 แห่ง
วันนี้เรามาทำบุญใหญ่ร่วมกันที่ผ่านมาทำบุญกับคนก็เยอะ วันนี้มาทำบุญกับสัตว์ ถ้าสัตว์พูดได้คงจะดีใจและยิ้ม
วิกฤตงบฯ ดูแลสัตว์ป่าใช้ได้อีก 2-3 เดือน
นายธัญญา กล่าวว่า งบฯ ที่ได้รับจัดสรรค่าอาหารสัตว์ปีนี้ใช้ได้อีกประมาณ 2-3 เดือน พยายามเจียดจ่ายใช้เงินรายได้มาสบทบ เพราะสัตว์ของกลาง สัตว์พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี หากรับมาแล้วดูแลไม่ดี อาจจะถูกตำหนิจากสังคม หรือประชาชนได้
ขณะนี้อยู่ระหว่างให้แต่ละสถานีฯ รวมทั้งสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเมินค่าใช้จ่ายที่จะใช้ดูแลสัตว์ตลอดทั้งปี ก่อนเสนอตามขั้นตอนผ่านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนั้นเสนอสำนักงบประมาณและรัฐบาล
ตั้งเป้าปี 65 ส่งมอบ Food Waste 240 ตัน
ขณะที่รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโครฯ กล่าวว่า แม็คโครยินดีและขอบคุณทางกรมอุทยานฯ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ได้เชื่อมต่อความร่วมมือ โดยมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ และยินดีสนับสนุนอาหารสด ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์บางส่วน ซึ่งอยู่ในสภาพที่สัตว์กินได้ แต่อาจไม่พร้อมขาย เช่น หมดอายุ ช่วยแบ่งเบาภาระของกรมฯ และลดขยะอาหาร เพราะหากไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะเน่าเสีย
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเริ่มต้นจากสาขา 17 สาขา 14 จังหวัด ที่ใกล้สถานีเพาะเลี้ยงฯ เพื่อลดค่าขนส่ง คาดว่าในปีนี้จะส่งมอบอาหารได้ 240 ตัน และปี 2566 จะดูความต้องการว่าจะสนับสนุนเพิ่มเติมมากน้อยเพียงใด
จ่อตั้งกองทุนช่วยสัตว์ป่า - แต่ปีหน้ารัฐบาลต้องจัดงบฯ ปกติ
ด้านนายศศิน กล่าวว่า สัตว์ป่าของกลางเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ปีนี้งบฯ สถานีเพาะเลี้ยงถูกตัดลดลง บางแห่งมีสัตว์นับพันตัว แต่ไม่มีเงินไปซื้อผลไม้ โครงไก่ให้สัตว์กิน จึงประสานความร่วมมือกับแม็คโค ขอให้นำ Food Waste มาช่วยเหลือในเบื้องต้น
ส่วนในระยะยาวนั้น ยืนยันว่าควรเป็นงบฯ ปกติ ที่ได้รับจัดสรรอย่างเพียงพอ เพราะสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าทั่วประเทศใช้งบฯ เพียง 50 ล้านบาท จากการสอบถามทราบว่า ขณะนี้แต่ละสถานีฯ งบฯ หมดแล้ว อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเวชภัณฑ์ ดูแลรักษาสัตว์ป่วย และนมแพะเลี้ยงลูกสัตว์ที่มีราคาสูง
ปีหน้ารัฐบาลต้องจ่ายงบฯ ประจำ และถือว่าปีนี้เป็นบทเรียน เพราะความเป็นอารยประเทศ จะปล่อยให้สัตว์ป่าให้สถานีเพาะเลี้ยงนับหมื่นตัวไม่มีอาหารกินไม่ได้
นอกจากนี้ ภาคเอกชนเตรียมตั้งกองทุนเพื่อเหลือสัตว์ป่าภายในปีนี้ เพื่อสนับสนุนค่าขนส่งระหว่างสาขาแม็คโครฯ ไปยังสถานีเพาะเลี้ยงฯ หรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายอาหารเนื้อสัตว์เพิ่มเติมให้เสือ หรือสัตว์ผู้ล่า
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว อยู่ภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงาน มีระยะเวลา 2 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิกฤต! งบอาหารสัตว์ป่าในสถานีเพาะเลี้ยงฯ ถูกลด 60%
แบก 2.6 หมื่นชีวิตสัตว์ป่า หั่นงบฯ ดูแลจาก 90 ล้านเหลือ 10 ล้าน
ปรับเมนูใหม่ให้ "เสือ-ลิง-หมี" สถานีเพาะเลี้ยง ถูกหั่นงบฯ 60%