วันนี้ (11 มี.ค.2565) นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการจับช้างป่าเพศผู้ (พลายเบี่ยงเล็ก) อายุประมาณ 40-45 ปี สูง 2.4 เมตร น้ำหนัก 4 ตัน เพื่อรักษาและติดตามอาการบาดเจ็บบริเวณโคนหาง รวมทั้งติดอุปกรณ์ติดตามตัว (GPS Collar) เพื่อประโยชน์ในการติดตามอาการการรักษาพยาบาลต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งผลการปฏิบัติงานบรรลุตามเป้าหมาย และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงได้ถอนกำลังจากพื้นที่ทำงาน โดยชุดปฏิบัติการฯ จะติดตามและเฝ้าสังเกตอาการและจะรายงานความก้าวหน้าต่อไป
มีรายงานว่า ปฏิบัติการเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (10 มี.ค.) เจ้าหน้าที่ได้ยิงยาซึมทำการรักษาช้างป่าพลายเบี่ยงเล็ก พบว่าช้างแข็งแรงขึ้น บาดแผลบริเวณทวารหนักมีแนวโน้มดีขึ้น แผลตื้นขึ้นมาก และแทบจะไม่มีกลิ่น ซึ่งทีมสัตวแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดปวด ยาลดอักเสบ และวิตามินบำรุงร่างกาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะจัดชุดติดตามช้างในช่วง 2-3 วัน รวมทั้งใช้ GPS Collar ตรวจสอบระยะการเดินและจุดที่อยู่ของช้าง เพื่อติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ ลดความเครียดของช้างป่าที่มีอาการบาดเจ็บ
ก่อนหน้านี้ ทีมเจ้าหน้าที่ได้ทำการรักษาพลายเบี่ยงเล็กเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่าหางขาด คาดว่าบาดแผลเกิดจากการต่อสู้กันเองของช้างป่า เนื่องจากไม่เคยพบเห็นช้างออกนอกพื้นที่และไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ
สำหรับปฏิบัติการดังกล่าวเป็นความร่วมมือศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า (ส่วนกลาง) จนท.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าที่ 1 (ภาคกลาง) สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
3 ช้างเขาใหญ่เปิดสังเวียน งาเบี่ยงเล็กหางขาด-พี่ดื้อ-งาอ้วนเล็กเจ็บ
เจอตัว " 2 ช้างเขาใหญ่" สู้กันเจ็บพบรอยเลือดห่วงแผลติดเชื้อ