สงครามรัสเซียยูเครน ทำให้เกิดภาวะสินค้าแพงขึ้นทั้งทางตรง เช่นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ แม่ปุ๋ย ทางอ้อม อย่างน้ำมัน ก๊าซ แต่สำหรับไทยสินค้าอุปโภคบริโภค ทยอยปรับราคาสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทยอยขึ้นแบบเงียบๆ ก็มี ขึ้นแบบประกาศให้รู้ถ้วนหน้าก็มี
น้ำมันปรับขึ้นนิ่มๆ มาต่อเนื่องจากความต้องการใช้ในตลาดโลกที่สูงกว่ากำลังผลิตเล็กน้อย ส่งผลถึงราคาในไทยเทียบกับปลายปีกลุ่มเบนซินปรับขึ้นเกือบเท่าตัว ไม่กล้าใส่ราคาพรุ่งนี้ (22 มี.ค.) ปรับขึ้นอีก 60 สตางค์ ยกเว้นดีเซลที่ยึดนโยบายตรึงราคาไม่เกิน 30 บาท
น้ำมันปาล์มขวด ที่ปัญหาภัยแล้งทำให้สำรองน้ำมันลดลง ราคาจากที่เคยอยู่ประมาณ 48 บาทปรับเป็น 55 60 และ 70 บาทก็มี ส่วนเนื้อหมู สูงก้าวกระโดดเพราะปัญหาโรคระบาดแอฟริกาสุกร ปัจจุบันปรับลงมาบ้าง แต่ก็ยังสูง

ในเดือนมี.ค.นี้มีสินค้าหลายรายการแพงขึ้น เช่น เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่งปรับขึ้น 2 บาท หรือ 20% บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายปลีกบางยี่ห้อ ปรับราคา 50 สตางค์ ส่วนราคาขายส่งบางยี่ห้อปรับขึ้นสำเร็จผู้ค้าคนกลาง 10-15 สตางค์ต่อซอง แต่ไม่ปรับราคาขายปลีก ขณะที่สบู่ก้อนแพงขึ้นจากราคาน้ำมันปาล์ม
สงครามรัสเซียยูเครนส่งผลโดยตรงต่อราคาโลหะแพงขึ้น ส่งผลถึงบรรบุภัณฑ์ประเภท อาหารกระป๋อง นมข้นกระป๋อง น้ำอัดลมกระป๋อง แพงขึ้น เจ้าของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มย่านเสนานิคม บอกว่า
ราคาของขึ้นทุกอย่างเลย วัตถุดิบที่นำมาทำเครื่องดื่ม ขึ้นตั้งแต่ต้นทางจากราคาการขนส่งน้ำมันแพงด้วย เช่น นมข้น นมสดลังหนึ่งขึ้นราคาประมาณร้อยกว่าบาท

การชะลอส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์จากภาวะสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาวัตถุดิบแพงขึ้นมาก กรณีข้าวสาลี แพงขึ้น 51% เทียบกับปีที่แล้ว กากถั่วเหลืองแพงขึ้น 36% ข้าวโพดแพงขึ้น 26% ยกตัวอย่างอาหารไก่ไข่สูตร 17 โปรตีน ปรับจาก 10 บาท เป็น 14 บาทกว่า ปรับขึ้นมา 38%
เมื่อต้นทุนเลี้ยงไก่สูงขึ้น ไข่ไก่กำลังมีการทบทวนต้นทุนใหม่วันพรุ่งนี้ ผู้ผลิตไข่ไก่รายหนึ่งมองว่าราคาไข่คละหน้าฟาร์มอาจขยับเป็นฟองละ 3 บาท 80 สตางค์ หรืออาจจะถึง 4 บาท หมายถึงราคาขายปลีกที่จะแพงกว่านี้ นี่เป็นสิ่งที่สัปดาห์นี้จะได้ทราบความคืบหน้า

ค่าไฟ-ก๊าซหุงต้มขึ้นราคากระทบระดับครัวเรือน
นอกจากนี้ ที่ต้องเตรียมใจไว้ล่วงหน้า คือก๊าซหุงต้มที่จะปรับราคาเดือนหน้า หากสงครามยืดเยื้อ ราคาพลังงานยังสูง การปรับขึ้นครั้งต่อไปกิโลกรัมละ 1 บาทก็จะได้เห็น เดือนถัดไปพ.ค.นี้ ต้องรับกับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมากกว่าที่เคยคำนวณเอาไว้ เป็นผลพวงทางอ้อมจากสงครามเช่นกัน เรื่องนี้กระทรวงพลังงานประกาศเตรียมใจกันล่วงหน้าแล้ว
แต่แนวโน้มไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายสูงขึ้น ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว โดยสภาองค์กรของผู้บริโภค และกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก เรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ มองว่าค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น มาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของภาครัฐ ไม่ใช่จากภาวะสงครามเป็นหลัก และเสนอให้เปิดทางประชาชนผลิตไฟฟ้าขายได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้า ของการระบบผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินระบบ มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 15%เป็น 50% ภาระค่าความมพร้อมจ่ายค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ ทั้งที่ไทยมีรัฐวิสาหกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจรรายเดียว รัฐควรมีเพดานราคาที่สอดคล้องเป็นธรรมกับค่าครองชีพของประชาชน
นี่เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างสินค้าค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นแล้วและกำลังจะแพงขึ้น นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ อาจารย์สมชัย จิตสุชน บอกว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คนจะมองว่าของแพงไม่หยุด ก็ยิ่งกักตุนสินค้า ทำให้ของยิ่งแพงขึ้น จนรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย นำมาสู่เรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้น