การเจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่สนามบิน กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังจากที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก โพสต์เล่าเรื่องของพ่อ ที่เป็นคนขับแท็กซี่ เกิดภาวะช็อก ขณะเข้าไปส่งผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยต้องใช้รถพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐใกล้กับสนามบิน สุดท้ายพ่อเสียชีวิต และยังถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอีก 13,000 บาท
วันนี้ (27 เม.ย.2565) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยืนยันว่า หากมีเหตุฉุกเฉิน สามารถแจ้งสายด่วน 1669 ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นำรถฉุกเฉินเข้ามารับผู้ป่วยในพื้นที่ได้ และไม่ได้มีนโยบายห้ามไม่ให้รถฉุกเฉินเข้ามาในพื้นที่
เคสดังกล่าวเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน ทีมแพทย์จึงนำส่งผู้ป่วยเพื่อรักษาต่อที่รพ.สิรินธร โรงพยาบาลของรัฐที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุด ส่วนการเรียกเก็บเงิน ขอให้รพ.เอกชนที่เป็นผู้นำส่ง ชี้แจงเรื่องการจัดเก็บค่ารักษาพยาบาล
ยันรถฉุกเฉิน 1669 รับผู้ป่วยในสนามบินได้
ขณะที่นายการันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษก สพฉ.กล่าวว่า สนามบินถือเป็นพื้นที่พิเศษ ที่มีระเบียบเฉพาะในการรักษาความปลอดภัย หากเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ในสนามบินมีทีมแพทย์ฉุกเฉินดูแล แต่ยืนยันว่าสามารถโทรสายด่วน 1669 ได้เช่นกัน เพื่อประสานทีมที่รับผิดในพื้นที่โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ต้องไปดูระเบียบของพื้นที่นั้น สพฉ.ไม่มีข้อมูล
การชี้แจงเกิดขึ้นหลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก โพสต์เล่าเรื่องของพ่อที่เป็นคนขับแท็กซี่ แล้วเกิดภาวะช็อก ขณะเข้าไปส่งผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่เมื่อโทร.1669 ได้รับแจ้งว่าเป็นเขตปกครองพิเศษ รถพยาบาลในระบบหรือมูลนิธิ เข้าไปรับไม่ได้
โดยทีมกู้ภัยของโรงพยาบาลเอกชนในท่าอากาศยาน เป็นผู้ส่งตัวไปรักษาต่อ แต่สุดท้ายพ่อเสียชีวิต และถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่าย 13,000 บาท อ้างว่าเป็นค่ารักษาและค่าอุปกรณ์ก่อนนำตัวส่ง รพ. จึงตั้งคำถามว่า เหตุใดพื้นที่เกิดเหตุ จึงไม่สามารถใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินผ่าน 1669 ได้