วันนี้ (28 เม.ย.2565) นายจีรศักดิ์ ชูความดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (ทส.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามประเมินผลโครงการฟื้นฟูพลับพลึงธาร พืชอาศัยถิ่นเดียวในโลกที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่ จ.พังงา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และเพิ่งเริ่มกันปลูกต้นพลับพลึงธาร บริเวณคลองโตนจิก ท้องที่บ้านห้วยทรัพย์ หมู่ที่ 6 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา รวมทั้งมีการทำเรือนเพาะชำพลับพลึงธาร บริเวณหน่วยน้ำตกสวนใหม่
สำหรับพลับพลึงธาร หรือหอมน้ำ (Onion plant, Thai onion plant,Water onion) พืชน้ำชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ Crinumthaianum อยู่ในวงศ์พลับพลึง (Amaryllidaceae) ถือได้ว่า เป็นพืชน้ำที่สวยงามและหายากมากที่สุดชนิดหนึ่ง เป็นพืชเฉพาะถิ่น ไม่พบที่ใหนในโลก
พบเหลือเพียง 1% ในธรรมชาติเสี่ยงสูญพันธุ์
ปัจจุบันพบเหลือแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น และพบขึ้นอยู่อย่างกระจัดกระจาย จึงได้ขึ้นเป็นบัญชีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) ปี 2554 สาเหตุของการลดลงเนื่องจาก การเก็บหัวจำหน่ายเป็นพืชน้ำประดับ และจากสาเหตุการขุดลอกคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ต้นพลับพลึงธาร ถือเป็นพืชน้ำหายากที่ใกล้สูญพันธุ์หนึ่งเดียวในโลกที่พบในไทย มีอัตราการเจริญเติบโตและการรอดสูงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีพังงา
ข้อมูลจาก IUCN ระบุว่าพลับพลึงธาร เป็นพืชเฉพาะถิ่น พบเห็นได้ในพื้นที่ จ.ระนองตอนล่าง ในเขตอ.สุขสำราญ และอ.กะเปอร์ และจ.พังงา ในพื้นที่อ.ตะกั่วป่าและอ.คุระบุรี เนื่องจากเป็นพืชที่ขึ้นในน้ำสะอาด มีการไหลเวียนของน้ำดี จึงเป็นดัชนีคุณภาพของแหล่งน้ำ และได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งสายน้ำ” โดยส่วนดอกจะขึ้นมาความลึกของน้ำเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร