คาดนำร่อง 7 จังหวัดปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทมีผลปีหน้า
กระทรวงแรงงานเตรียมนำนโยบายนำร่องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัดเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ คาดจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.55
จากกรณีที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เริ่มเดินหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้น นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ขั้นตอนที่เห็นพ้องกันคือ จะมีการปรับตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร, จังหวัดสมุทรปราการ, จังหวัดสมุทรสาคร, จังหวัดปทุมธานี, จังหวัดนครปฐม, จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้ค่าแรงขึ้นต่ำมีอัตราที่ใกล้เคียงกับค่าจ้าง 300 บาท และทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างน้อยที่สุด ทั้งนี้คาดว่า จะมีแรงงานมากกว่า 3 ล้านคนได้ปรับขึ้นค่าจ้างในล็อตแรก โดยข้อเสนอนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลางกับกระทรวงแรงงานในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ 7 จังหวัด
ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดอื่นๆ ให้เป็นวันละ 300 บาทนั้น ปลัดกระทรวงแรงงานระบุว่า ต้องให้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง โดยอาจปรับเป็นไปในลักษณะขั้นบันได คือเพิ่มในอัตราร้อยละ 40 ก่อน ซึ่งเท่ากับอัตราการปรับขึ้นใน 7 จังหวัด จากนั้นจึงค่อยมีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทในภายหลัง
โดยคาดว่า ทุกอย่างจะมีความชัดเจนภายในเดือน ต.ค. และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.55 เป็นต้นไป ซึ่งเห็นว่า ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อม ให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นไว้ก่อน ซึ่งในส่วนผู้ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา โดยปลายสัปดาห์นี้ รมว.แรงงาน จะหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เพื่อสรุปความชัดเจนอีกครั้ง
ส่วนต้นสัปดาห์หน้าจะเชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มาหารือถึงเตรียมความพร้อมพัฒนาความสามารถในการทำงานของแรงงาน เพื่อให้การปรับค่าจ้างสอดคล้องกับฝีมือแรงงาน
ด้านนายชุมพล พรประภา ที่ปรึกษากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ระบุว่า หากปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างมาก คิดว่านายจ้างไม่ขัดข้องกับการเพิ่มรายได้เป็นวันละ 300 บาทต่อวัน หากให้เวลาเตรียมตัว 2-3 ปี ส่วนที่จะมีการหารือกับภาคธุรกิจและสมาคมวิชาชีพต่างๆ เพื่อวางมาตรการในการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยรัฐบาลจะจัดงบประมาณให้แก่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 3,000 ล้านบาทมารองรับ เชื่อว่า รัฐบาลคงจะจัดสรรงบประมาณนี้ทุกปี รวมทั้งการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการด้านภาษี เพราะหากลูกจ้างฝีมือดีขึ้น และสามารถผลิตชิ้นงานได้มากขึ้น นายจ้างก็ยินดีปรับขึ้นค่าจ้างให้สูงขึ้น แต่อยู่ในอัตราที่ไม่สูงไปกว่ารายได้จากผลผลิตที่ลูกจ้างผลิตได้
ด้าน รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่า นโยบายการเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาทของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 รองรับ แต่การเพิ่มรายได้ ไม่ได้มีกฎหมายรองรับ เป็นเหมือนการประกันรายได้ให้แก่แรงงาน หากมีทักษะฝีมือดีขึ้นและเพิ่มผลผลิตให้แก่นายจ้างมากขึ้น ก็จะมีรายได้เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท โดยรัฐบาลจะมีมาตรการชดเชยส่วนต่างของการเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน เช่น มาตรการด้านภาษี
กรณีการปรับค่าจ้างนำร่อง 7 จังหวัดนี้ นายชาลี ลอยสูงเนิน ประธานคณะกรรมการแรงงานสมานฉันท์ กล่าวว่า รับไม่ได้กับข้อเสนอเพราะตามการประกาศหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้มีการระบุว่า จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศและทำทันที ซึ่งหากการดำเนินการเป็นไปในลักษณะนี้ ก็ถือว่ารัฐบาลผิดสัญญา ดังนั้นในวันที่ 5 ก.ย.นี้ เครือข่ายฯ จะมีการจัดสัมมนาค่าจ้างพร้อมเปิดผลสำรวจค่าครองชีพของลูกจ้าง หลังจากนั้นจะขอพบนายกรัฐมนตรีเพื่อทวงถามสัญญาอีกครั้ง