หลังจากนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายตอนหนึ่งถึงงบประมาณกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
วันนี้ (31 พ.ค.2565) พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงงบประมาณกลาโหม โดยเฉพาะงบฯ การจัดหายุทโธปกรณ์ อย่างเครื่องบิน F-35 ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่
รมช.กลาโหม ระบุว่า กองทัพอากาศมีภารกิจสำคัญในการป้องกันประเทศ และการรักษาผลประโยชน์ของชาติ อธิปไตยเหนือน่านฟ้าของไทย โดยเครื่องมือสำคัญ คือ เครื่องบินที่ส่วนใหญ่ขีดความสามารถถูกจำกัด เนื่องจากใช้งานมานาน บางเครื่องใช้มา 41 ปี เฉลี่ยที่มีอยู่ปฏิบัติภารกิจมาแล้ว 28 ปี จึงจำเป็นต้องทยอยปลดประจำการ เนื่องจากไม่สามารถหาชิ้นส่วนอะไหล่มาซ่อมบำรุงได้ หรือซ่อมบำรุงแล้วไม่คุ้มค่า จึงทยอยปลดประจำการตั้งแต่ปี 2564-2574 ซึ่งจะทำให้กองทัพอากาศ มีเครื่องบินสกัดกั้นโจมตี ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจ จึงอาจเกิดความเสี่ยงในการป้องกันประเทศได้
กองทัพอากาศมีความจำเป็นต้องจัดหาเครื่องบินมาทดแทน ซึ่งไม่ใช่มีความต้องการแล้วจะจัดหาได้เลย ต้องใช้เวลา 3 ปีเศษ จึงจะได้เครื่องบินมา ทั้งยังต้องฝึกกำลังพลอีก 1 ปี ดังนั้น กองทัพอากาศจึงต้องวางแผนจัดหาเป็นระยะ ๆ ตามกรอบงบประมาณที่มีอยู่
พล.อ.ชัยชาญ ระบุอีกว่า ครั้งนี้ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า มีการใช้งบ 103,800 ล้านบาทนั้น ในความเป็นจริง ใช้งบฯ ภาพรวม 7,382 ล้านบาท และใช้งบปี 2566 ขั้นต้น 738 ล้านบาทเท่านั้น ขณะเดียวกันในการดำเนินการกองทัพอากาศจัดทำสมุดปกขาว และวางแผนที่จะทดแทนเพื่อสอดคล้องกับจำนวนที่จะปลดประจำการ เพื่อให้ปฏิบัติภารกิจให้ได้
ทั้งนี้ เครื่องมือที่ใช้งานมานาน นอกจากประสิทธิภาพลดลง ยังต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของนักบิน เนื่องจากต้องฝึกกำลังพลอย่างหนักกว่าจะมีความเชี่ยวชาญ จึงขอเรียนว่า ยุทโธปกรณ์นี้จำเป็นต่อการดำรงขีดความสามารถของกองทัพอากาศในการปกป้องน่านฟ้าของไทยให้ปลอดภัย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พิธา" คลี่งบฯ ปี 66 ชี้เป็น "งบช้างป่วย ปรับตัวไม่ได้"
"หมอชลน่าน" ชี้รัฐบาลหมดสภาพ จัดงบฯ สิ้นหวัง-เอื้อพวกพ้อง
"ทวี" ชี้นายกฯ จัดงบฯปี 66 "กระจุกตัว" - หนี้ต่อ GDP เกิน 70 %