วันนี้ (29 มิ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อหารือการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานยุทธศาสตร์ และที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภค และผู้ที่เกี่ยวข้อง
สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นข้อเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม.พิจารณา 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.ขอให้ยกเลิกกำหนดราคาตลอดสาย 59 บาท ที่จะทำให้เกิดเพดานราคาสูงสุด ที่จะทำให้ราคารถไฟฟ้าไม่สามารถให้ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน ซึ่งอาจส่งผลการเข้าถึงการรับบริการของผู้บริโภค แต่เห็นด้วยกับการเก็บค่าโดยสารจากคูคตเข้ามาในราคา 15 บาท
2.ขอให้ กทม.ใช้ราคา 44 บาทตลอดสาย เพื่อคุ้มครองบริษัทบีทีเอสด้วย โดยราคารวมตลอดสายรวมส่วนขยายทั้ง 2 ฝั่งไม่ควรเกิน 44 บาท เพื่อเป็นต้นแบบให้สายอื่น ๆ ให้รถไฟฟ้าเป็นมิตรทุกคนสามารถขึ้นได้
3.เสนอให้ดำเนินการนำระบบตั๋วเดือนกลับคืนมา
4.เรื่องการเปิดเผยและแก้ไขสัญญาที่เกินเลยปี 2585 จากสัญญาสัปทานเดิมจะหมดในปี 2572 แต่มีการจ้างเดินรถเกินเลยสัญญาสัมปทานหลักไปถึงปี 2585 ขอให้ผู้ว่าฯ หาทางแก้ปัญหาส่วนนี้
หากยกเลิกสัญญาเดินรถส่วนที่เกินเลยจากสัญญาสัมปทานได้ก็จะมีโอกาสให้การดำเนินการหลังหมดสัญญาสัมปทานจะทำให้ผู้บริโภคได้ราคาที่เป็นมิตรมากขึ้น
สภาองค์กรของผู้บริโภคสนับสนุนกรุงเทพฯไม่ต่อสัญญาสัมปทาน และใช้วิธีการประมูลจ้างการเดินรถ หรือ ทำสัญญาร่วมทุน (PPP) กับเอกชน โดยแยกเป็น 2 สัญญา คือ
สัญญาเดินรถและสัญญาหาประโยชน์ พร้อมเสนอว่า หลังหมดสัญญาสัมปทานให้ใช้ราคา 25 บาท ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคมั่นใจว่าทำได้จริง โดยราคาที่ใช้ก่อนหมดสัญญาก็ขอให้คุ้มครองบริษัทบีทีเอสโดยใช้ราคา 44 บาท
5.เปิดเผยร่างสัญญาสัมปทานของ กทม.ที่กำหนดราคา 65 บาท
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับข้อเสนอทั้งหมดสภาองค์กรของผู้บริโภคไว้พิจารณาแล้ว โดยในประเด็นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกังวลเรื่องราคา 59 กับ 44 บาท เป็นช่วงที่อยู่ในระยะสั้นก่อนหมดสัญญาสัมปทานแต่ยังมีส่วนต่อขยายอีก 2 ส่วนที่ยังไม่ได้เก็บค่าโดยสาร
ส่วนราคาตรงกลาง คือ 44 บาท สูงสุดอยู่แล้ว ซึ่งต้องคำนวณตัวเลขดูว่า กรอบ 44 บาท หรือ 59 บาท ทาง กทม.ต้องชดเชยเงินเท่าใดหากกำหนดให้ 44 บาทสูงสุด ก็คือ วงเงินส่วนตรงกลางที่เอกชนได้สัมปทานอยู่
ถ้าวิ่งออกมาที่ส่วนต่อขยายทั้ง 2 สาย กทม.ก็จะไม่ได้เงินเลย เพราะกำหนดสูงสุดไว้ที่ 44 บาท จึงต้องคำนวณตัวเลขมาให้เปรียบเทียบกับสายอื่นต้องอธิบายได้ว่าทำไมเราเสนอเก็บส่วนต่อขยายที่ยังไม่มีการเก็บเงินอยู่นี้เป็นราคาเท่าใด
ส่วนเรื่องที่เสนอให้นำตั๋วเดือนกลับคืนมารวมถึงตั๋วนักเรียนต้องไปเจรจากับทางบีทีเอสต่อไป
สำหรับการเปิดเผยสัญญาการจ้างเดินรถปี 2572 - 2585 มีข้อ 1 ในสัญญาคือ ห้ามเปิดเผยสัญญานี้ ซึ่งต้องไปดูว่า กทม.มีสิทธิ์จะเปิดเผยหรือไม่ ขณะนี้ได้สัญญามาแล้วต้องมาดูให้เกิดความโปร่งใส และจะแก้ไขสัญญาให้กำหนดสิ้นสุดพร้อมกับสัญญาสัมปทานในปี 2572
ส่วนการเปิดเผยสัญญาสัมปทานของ กทม.ที่กำหนดราคา 65 บาท ต้องไปดูรายละเอียดเช่นกัน โดยปัญหาหลักที่ค้ำอยู่คือการจ้างเดินรถปี 72 - 85 ซึ่งเป็นการลงนามสัญญาล่วงหน้ามานานแล้ว มีค่าใช้จ่ายที่สูงประมาณหมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งกำลังหาทางดำเนินการอยู่
ต้องขอบคุณสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ทำให้เรามีจุดได้คุยกับตัวแทนผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคมีทั้งผู้ที่ใช้และไม่ใช้บีทีเอส ก็ต้องดูให้สมดุล เราไม่สามารถนำเงินของผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้บีทีเอส มาจ่ายให้กับคนที่ใช้บีทีเอสได้
จะต้องเรียนให้สภา กทม.ทราบด้วยว่า สุดท้ายแล้ว ถ้าเราใช้ราคา 44 บาท กทม.ต้องเอาเงินไปช่วยเท่าไร เงินส่วนนี้ผู้บริโภคกลุ่มอื่นจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ เราคุยกันด้วยหลักการน่าจะอธิบายกันได้ ภายในสัปดาห์หน้า ทางกรุงเทพธนาคม (เคที) น่าจะมีข้อสรุป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กมธ.แนะ กทม.กู้เงินจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาลค้ำประกัน
คมนาคมเตรียมหารือ "ชัชชาติ" แก้ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว
"ชัชชาติ" ไม่เห็นด้วยต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว 40 ปี
ครม.ยังไม่พิจารณาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ค้านกทม.ปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว