การเปิดทางให้โกตาบายา ราจาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา ลี้ภัยทางการเมืองในมัลดีฟส์ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านเป็นวงกว้าง
ก่อนหน้านี้ โกตาบายาเดินทางด้วยเครื่องบินกองทัพเป็นระยะทาง 760 กิโลเมตร มุ่งหน้าไปยังกรุงมาเลของมัลดีฟส์ หลังจากพลาดเที่ยวบินไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4 เที่ยวบิน เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ประทับตราหนังสือเดินทาง
อ่านข่าว : "ประธานาธิบดีศรีลังกา" หนีออกนอกประเทศ
ขณะที่สำนักข่าว Reuters เผยแพร่คลิปวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือ นำไปสู่การตั้งคำถามถึงบทบาทของรัฐบาลมัลดีฟส์ในเรื่องนี้
คลิปวิดีโอบันทึกภาพชายกลุ่มหนึ่งเดินออกมาจากอาคารผู้โดยสารสนามบินในกรุงมาเล ก่อนที่ขบวนรถจะเคลื่อนออกไปไม่นานหลังจากประธานาธิบดีโกตาบายา ภริยา และเจ้าหน้าที่อารักขาเดินทางมาถึงมัลดีฟส์
ผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่า ชายที่เดินออกจากอาคารคนสุดท้ายคือ โมฮาเหม็ด นาชีด ประธานสภาและอดีตผู้นำมัลดีฟส์
ANI สื่ออินเดีย รายงานว่า นาชีดต่อรองจนเครื่องบินกองทัพที่ผู้นำศรีลังกาโดยสาร ได้รับอนุมัติให้ลงจอดได้ในที่สุด หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนมัลดีฟส์ปฏิเสธคำขอลงจอดครั้งแรก ทำให้เครื่องบินต้องบินวนอยู่เหนือสนามบิน
ข้อมูลเหล่านี้ นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความใกล้ชิดระหว่างอดีตผู้นำมัลดีฟส์ กับตระกูลราจาปักษาในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน
โมฮาเหม็ด นาชีด อดีตผู้นำมัลดีฟส์
ตระกูลราจาปักษา มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนาชีด เนื่องจากอดีตผู้นำมัลดีฟส์เคยลี้ภัยในศรีลังกา หลังจากเกิดการจลาจลเมื่อเดือน ก.ย.2003 และร่วมก่อตั้งพรรค MDP ในเดือน พ.ย.ปีถัดมา ซึ่งสมาชิกพรรค MDP มักใช้กรุงโคลัมโบเป็นสถานที่พบปะหารือกัน ก่อนที่นาชีดจะนั่งเก้าอี้ผู้นำมัลดีฟส์ในปี 2008
ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นาชีดยังได้รับการแต่งตั้งจากรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ให้เป็นผู้ประสานงานช่วยเหลือศรีลังกา ซึ่งการแต่งตั้งให้อดีตผู้นำมัลดีฟรับตำแหน่งผู้ประสานงาน ถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์ในการหาทางลงให้พี่น้องตระกูลราจาปักษา
พรรคฝ่ายค้าน PPM ของมัลดีฟส์ แสดงจุดยืนต่อต้านการเปิดทางให้โกตาบายาลี้ภัยทางการเมืองภายในประเทศ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจให้ชาวศรีลังกา และอาจทำให้ชาวมัลดีฟส์ที่เรียนหนังสือและทำงานอยู่ในศรีลังกาตกอยู่ในอันตราย
ขณะที่อินเดีย เป็นอีกประเทศที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยคอยให้ความช่วยเหลือประธานาธิบดีโกตาบายาลี้ภัยออกนอกประเทศ เนื่องจากรัฐบาลอินเดียใกล้ชิดกับรัฐบาลมัลดีฟส์ และเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นจนเกิดกระแสต่อต้าน India Out มาสักระยะ โดยรัฐบาลอินเดียออกมาปฏิเสธกระแสข่าวนี้ และแสดงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือชาวศรีลังกาอย่างเต็มที่
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเอเชียใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีศรีลังกาพยายามยื้อเวลาเพื่อหาสถานที่ปลอดภัยให้ได้ก่อน เนื่องจากการลาออกจากตำแหน่งจะทำให้สูญเสียเอกสิทธิคุ้มครอง โดยตำแหน่งทำให้ไม่ถูกดำเนินคดีและได้รับการคุ้มกันต่อไป
อ่านข่าวอื่นๆ
"ศรีลังกา" ประกาศภาวะฉุกเฉินคุมผู้ประท้วงลุกฮือไล่ผู้นำ
"ศรีลังกา" เตรียมเลือกประธานาธิบดี-นายกฯ คนใหม่ 20 ก.ค.นี้