ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT สกัด 'คนไทย' ลอบทำงาน 'เกาหลีใต้' พุ่ง

สังคม
4 ส.ค. 65
14:05
1,471
Logo Thai PBS
THE EXIT สกัด 'คนไทย' ลอบทำงาน 'เกาหลีใต้' พุ่ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่ใช่เพียงเกาหลีใต้เท่านั้นที่เข้มงวดกับการเข้าเมืองของคนไทยในช่วงนี้ หลังจากพบคนไทยจำนวนมาก พยายามเข้าไปลักลอบทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย แต่ความพยายามระงับการเดินทางจากประเทศไทยก็เข้มงวดมากขึ้นเช่นกัน และเกาหลีใต้ขยับมาเป็นอันดับ 1 ปลายทางยอดนิยมของคนไทยที่ไปแสวงหาความหวังใหม่ในต่างแดน

ปี 2565 ยอดผู้ลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้พุ่ง

ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน พบว่า ในปีงบประมาณ 2564 ด่านตรวจคนหางาน ของกรมการจัดหางาน ระงับการเดินทางคนไทยที่ลักลอบไปทำงานในต่างประเทศได้ 707 คน ปลายทางยอดนิยมในปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบตะวันออกกลาง คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน โอมาน แอฟริกาใต้ และมัลดีฟส์

 

ล่าสุด นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ออกมาเปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า เกาหลีใต้ ขยับขึ้นมาเป็นประเทศปลายทางอันดับหนึ่ง แซงประเทศต่างๆ จากตะวันออกกลาง

นายไพโรจน์ บอกว่า ปีงบประมาณ 2565 ช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 3 สิงหาคม 2565 ด่านตรวจคนหางานระงับการเดินทางคนไทยที่ลักลอบเดินทางไปทำงานผิดกฎหมายในต่างประเทศได้ 116 คน ในจำนวนนี้ เดินทางไปเกาหลีใต้มากที่สุด คือ 64 คน รองลงมาออสเตรเลีย 25 คน ญี่ปุ่น 11 คน แคนาดา 11 คน และประเทศลาว 5 คน

 

กรมการจัดหางานขยับคัดกรองเข้มสนามบินไทย

ทางด่านตรวจคนหางานตามสนามบินต่างๆ 5 แห่งทั่วประเทศ จึงยกระดับการคัดกรองผู้เดินทางมากขึ้น โดยทำงานร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม. ของไทย ให้ส่งผู้ที่เดินทางไปยังเกาหลีใต้มาสัมภาษณ์จุดประสงค์การเดินทางเพิ่มเติมที่ด่านตรวจคนหางาน เพื่อสกัดคนไทยที่ลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้ตั้งแต่ต้นทาง 

 

อธิบดีกรมการจัดหางาน ยังบอกว่า ปัจจัยที่ทำให้คนไทยลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้ มีสาเหตุมาจากค่าแรง คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ราว 50,000-60,000 บาทต่อเดือน และสภาพความเป็นอยู่ที่ดีในประเทศเกาหลีใต้

ขณะนี้ยังพบว่า นายหน้าใช้อุบายให้คนไทยถือเงินเป็นจำนวนมากเข้าประเทศเกาหลีใต้ เพื่อยืมโชว์เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ด้วยความเชื่อว่าสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้พวกเขาผ่านการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้

เกาะเชจู เป้าหมายใหม่ จากข้อยกเว้น K-ETA เข้าเกาหลีใต้

วันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักข่าว KBS NEWS ประเทศเกาหลีใต้ รายงานว่า คนไทยจำนวน 115 คน ซึ่งเดินทางโดยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ สายการบินเชจูแอร์ มายังท่าอากาศยานนานาชาติเชจู บนเกาะเชจู ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเมือง และจะถูกส่งตัวกลับไทยเร็วที่สุด โดยเที่ยวบินที่เข้ามา

 

สันนิษฐานว่า สาเหตุที่ทำให้คนไทยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาว่า คนไทยในเที่ยวบินต้องการลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศเกาหลีใต้ โดยอาศัยเกาะเชจูเป็นทางผ่านเข้าแผ่นดินใหญ่ ด้วยข้อยกเว้นที่ทางการเกาหลีใต้กำหนดว่า ผู้เดินทางมายังเกาะเชจู ไม่ต้องทำ K-ETA หรือระบบออนไลน์ที่จัดทำขึ้นมา เพื่อคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศมายังเกาหลีใต้ โดยไม่ต้องขอวีซ่า ทำให้ผู้เดินทางตัดขั้นตอนนี้ออกไปและไม่ต้องรอการอนุมัติจากทางการเกาหลีใต้ ซึ่งใช้เวลาไม่น้อย หรืออาจถูกปฏิเสธคำขอ และไม่ได้เดินทางตามความต้องการ

 

 

ผู้เดินทางจาก 112 ประเทศ รวมถึงไทย สามารถเดินทางเข้าเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เพียงแค่ลงทะเบียน K-ETA ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนปีที่แล้ว จากนั้นในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางการเกาหลีใต้ยกเว้น K-ETA ให้กับผู้เดินทางมาเกาะเชจู เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกาะเชจูกลายเป็นเป้าหมายของคนไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ช่วงนี้

ครึ่งหนึ่งของผู้เดินทางจากไทยถูกปฏิเสธเข้าเกาหลีใต้

สื่อจากเกาหลีใต้ยังรายงานว่า นับตั้งแต่ที่ไทยและเกาหลีใต้เปิดประเทศ หลังการระบาดของโควิด-19 จำนวนคนไทยที่เดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้ประมาณ 10,000 คน มีผู้ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเมืองอย่างน้อย 5,000 คน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้เดินทาง

และยังพบว่า มีคนไทยอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายอย่างน้อย 140,000 คน ขณะที่จำนวนคนไทยที่ไปทำงานอย่างถูกกฎหมายอยู่ที่ 22,000 คน

เมื่อสำรวจแนวโน้มการค้นหาข้อมูลการทำงานในเกาหลีใต้ โดยกูเกิลเทรนด์ พบว่า คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการสมัครงานและหางานในเกาหลีใต้ มีอัตราพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และ มีจำนวนมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด

จากข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่า คนไทยสนใจไปทำงานที่เกาหลีใต้มากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของกรมการจัดหางานก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่าเกาหลีใต้กลับมาครอบอันดับ 1 ในประเทศยอดนิยมของแรงงานไทยผิดกฎหมาย

ข้อมูลของกูเกิลเทรนด์ ชุดนี้ยังระบุว่า ผู้ที่ค้นหาข้อมูลการทำงานเกาหลีใต้จากสื่อออนไลน์ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดอุดรธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครราชสีมา และปทุมธานี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง