เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2565 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประกาศระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์วันชาติ ว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 377A และทำให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ผู้นำสิงคโปร์ ระบุว่า ถึงเวลาที่เราต้องถามตัวเองแล้วว่า การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายในที่รโหฐาน ควรจะเป็นความผิดอาญาอยู่อีกหรือไม่ เพราะคนส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่ารสนิยมและพฤติกรรมทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน และไม่ได้สร้างปัญหาต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลสมควรที่จะลงโทษคนด้วยเหตุผลนี้อีกต่อไป
กฎหมายอาญา มาตรา 377A ตราขึ้นตั้งแต่ปี 1938 สมัยที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมของสิงคโปร์ และเมื่อได้รับเอกราชปี 1965 สิงคโปร์เลือกจะบังคับใช้กฎหมายนี้ต่อไป แม้ว่าช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจะไม่มีผู้ถูกลงโทษตามบทบัญญัตินี้ก็ตาม
ตัวบทกฎหมายอาญา มาตรา 377A ระบุไว้ว่า ชายใดที่กระทำอนาจารกับชายอื่น ทั้งในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ซึ่งกฎหมายในลักษณะเดียวกับมาตรา 377A ของสิงคโปร์นี้ยังมีบังคับใช้ในประเทศอดีตอาณานิคมของอังกฤษอีกหลายแห่งทั่วโลก
บรรดาประเทศแถบเอเชียซึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมา มาเลเซีย บรูไน ต่างเคยมีกฎหมายเดียวกันนี้และยังมีผลทางกฎหมายอยู่ในบางประเทศ แต่เมื่อปี 2018 ศาลสูงอินเดียพิจารณาเพิกถอนกฎหมายนี้ พร้อมประกาศคุ้มครองกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด
ขณะที่ในเอเชียยังมีอีกหลายประเทศซึ่งมีความก้าวหน้าด้านสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ รวมถึงประเทศไทยที่เดินหน้าส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านการผลักดันพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมและพระราชบัญญัติคู่ชีวิต
ส่วนกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม ระบุให้รสนิยมรักเพศเดียวกัน เป็นสิ่งที่รักษาไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องรักษา และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมขอให้บุคลากรทางการแพทย์เคารพต่ออัตลักษณ์ทางเพศอย่างเท่าเทียม และยังมีอีกหลายประเทศที่ขยับตัวมุ่งหน้าสู่ความเท่าเทียมมากขึ้น เช่น ภูฏาน แม้ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่กฎหมายเกี่ยวกับเพศที่เคยบังคับใช้ในลักษณะเดียวกัน ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2564
นอกจากนี้ ลี เซียน ลุง ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวผลักดันการสมรสของคนเพศเดียวกันด้วย
แม้จนถึงขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าการยกเลิกมาตรา 377A จะมีผลเมื่อใด แต่มีคำเตือนจากกลุ่มศาสนาบางส่วนว่า การยกเลิกกฎหมายนี้อาจนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวอย่างแข็งกร้าวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ขณะที่กลุ่ม LGBTQ+ ต่างยินดีกับก้าวแรกบนเส้นทางอันยาวไกล และหวังจะเดินไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศในสิงคโปร์ในอนาคต