ส่วนหนึ่งจากบทประพันธ์เรื่อง The Beach โดย Alex Garland ที่บรรยายถึงลักษณะสถานที่ที่ตัวละครต้องใช้ในการดำเนินเรื่องว่า
เป็นชายหาดที่กว้าง มีหินผาโอบล้อม มีต้นมะพร้าวเต็มอยู่ริมหาด
โดยผู้ประพันธ์อ้างอิงมาจากลักษณะภูมิประเทศของ หาดเทียน เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี แต่ทีมถ่ายทำภาพยนตร์เลือกใช้สถานที่จริงในการถ่ายทำคือ อ่าวมาหยา เกาะพีพี จ.กระบี่
“อ่าวมาหยา” ถูกต้องตามบทประพันธ์เพียงไม่กี่ข้อ มีเพียงหินผาที่โอบล้อมอ่าว มีน้ำทะเลสีฟ้าใส แต่ อ่าวมาหยา ไม่มีหาดทรายที่กว้างพอให้ตัวละครได้เตะบอลชายหาด ไม่มีต้นมะพร้าวที่ให้ร่มเงาเพื่อให้ตัวละครได้นั่งบนโขดหินตอนเชียร์เพื่อนๆ เตะฟุตบอลกัน
เป็นความท้าทายของกองถ่ายทำที่ต้องเนรมิตต้นมะพร้าว และทำให้ชายหาดกว้างขึ้นตามบทประพันธ์ไม่กี่ประโยค
แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นของความท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายไทย และจุดเริ่มต้นการทำลายทรัพยากรทางทะเลที่หาทางฟื้นฟูกลับมาได้ยากของอ่าวมาหยา
สำนักข่าวต่างประเทศ CNN เปิดเผยว่า หลังจากปี พ.ศ. 2543 เมื่อภาพยนตร์ The Beach ได้ถูกฉายให้คนทั่วโลกได้ดู “อ่าวมาหยา” เกาะพีพี ก็ติดอันดับต้นๆ เกาะที่ทุกคนต้องไป
ข้อมูลเชิงสถิติจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า หลังจากปี 2543 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยที่มาเที่ยวอ่าวมาหยามีมากถึง 4,000-5,000 คน/วัน
ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะถูกกระตุ้นด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของอ่าวมาหยาก็ถูกทำลายตามไปด้วย ความไม่สมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติเริ่มแสดงออกมาเมื่อสัตว์น้ำหลายชนิดที่เคยพบเจอกลับหายไปและถูกแทนที่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวแทน
นักวิชาการทางทะเลรวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ต่างเรียกร้องให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช “ปิดอ่าวมาหยา” เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวตั้งแต่ เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนกันยายน ของทุกปี
จนกระทั่งปี 2561 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีประกาศ ปิดอ่าวมาหยา ตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ก.ย. 61 ตามคำเรียกร้องของคนในพื้นที่ โดยไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมใดๆ บริเวณอ่าว แต่อนุญาตให้มีการท่องเที่ยวชมความสวยงามของสถานที่จากภายนอกโดยมีแนวทุ่นไข่ปลาเป็นแนวกั้น
หลังจากปิดอ่าวไม่นาน ธรรมชาติเริ่มส่งสัญญาณที่ดีกลับมา เมื่อ “ฉลามหูดำ” สัตว์ห่วงโซ่อาหารบนสุด เริ่มปรากฏตัว หลังจากที่หายจากอ่าวมาหยาไปหลายปี นั่นแสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศได้ถูกฟื้นฟูจนเต็มที่และสมบูรณ์ และไทยยังได้รับเสียงชื่นชมจากหลายประเทศทั่วโลกที่เลือกจะปกป้องธรรมชาติมากกว่าจะปล่อยให้นักท่องเที่ยวทำลายธรรมชาติไปเรื่อยๆ
แต่ 4 เดือนในทุกๆ ปี อาจจะยังไม่เพียงพอ ถ้าต้องการให้อ่าวมาหยากลับมาเหมือนก่อนที่ The Beach จะมา คงต้องให้เวลากับธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงประกาศให้ปิดอ่าวมาหยาไปจนถึงสิ้นสุดปี 2564
จนกระทั่ง 1 ม.ค. 2565 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อนุญาตให้ “อ่าวมาหยา” เปิดอย่างเป็นทางการ ภายใต้เงื่อนไขการจำกัดนักท่องเที่ยว 375 คน/ชั่วโมง และเปิดให้เข้าท่องเที่ยว 07.30 – 17.30 น. ของทุกวัน นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำได้ไม่เกิน 50 เมตรจากชายฝั่งทะเล
หลังจากปิดอ่าวไป 3 ปีครึ่ง (มิ.ย. 2561 – 31 ธ.ค. 2564) สัตว์หลายชนิดที่เคยหนีมนุษย์ไปได้ทยอยกลับคืนสู่อ่าวมาหยาอีกครั้ง เช่น ปูลม ปูทหาร ปูเสฉวนบก ปูไก่ ปลาการ์ตูนสีส้ม ฉลามวาฬ และฉลามหูดำ เป็นต้น
Tourists went on holidays while travellers did something else. They travelled.
นักท่องเที่ยวจะเที่ยวเฉพาะวันหยุด ในขณะที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปเรื่อยๆ
อีกหนึ่งประโยคจากบทประพันธ์ The Beach ที่สะท้อนให้เห็นว่า เราต้องอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ให้ได้ตลอดไป เพื่อให้คนอีกหลายๆ คนได้เดินทางมาท่องเที่ยวได้อีกยาวนาน
ที่มา : www.goodreads.com
www.cnn.com
www.dnp.go.th
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Beach_(film)