วันนี้ (13 ก.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลนัดฟังคำพิพากษาฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ (อบจ.) โจทก์ที่ 1 องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง (อบต.) โจทก์ที่ 2 กับพวกรวม 19 คน ร่วมกันยื่นฟ้องรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 1 กรมป่าไม้ จำเลยที่ 2 และอธิบดีกรมป่าไม้ จำเลยที่ 3
บริษัทซันต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์มฯ จำเลยที่ 4 และบริษัททเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ฯ จำเลยที่ 5 ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลแพ่งความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
กรณีเมื่อปี 2541 มีการอนุมัติให้บริษัททำถ่ายภาพยนตร์ เรื่อง The Beach เข้าไปตกแต่งเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายหาดอ่าวมาหยา บนเกาะพีพี ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาตินพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ เพื่อใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดิม
ยกฟ้อง รมว.เกษตรฯ-ปลอดประสพ
โจทก์จึงขอให้มีคำพิพากษาให้คำสั่ง จำเลยที่ 1 ถึง 3 ที่อนุญาตจำเลยที่ 4 เข้าไปถ่ายภาพยนตร์เป็นโมฆะ ให้จำเลยร่วมกันวางเงินประกันค่าความเสียหาย หากจำเลยไม่วางเงินขอให้ศาลมีคำสั่งกระทำการใดๆ เพื่อตกแต่งอ่าวมาหยา ขอให้จำเลยที่ 1 ถึง 3 เพิกถอนใบอนุญาตจำเลยที่ 4 ถึง 5 เข้าถ่ายทำภาพยนตร์ และขอให้จำเลยร่วมกันปรับปรุงแก้ไขสภาพชายหาดมาหยา กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ
โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ปรับปรุงแก้ไข หาด มาหยา ให้กลับคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยให้จำเลยที่ 2 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทําแผนการแก้ไขฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน บริเวณอ่าวมาหยา ประกอบด้วยโจทก์ที่ 1 ถึง 2 ผู้เชี่ยวชาญ ที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งในคดีนี้
และผู้แทนจากภาคเอกชนตามที่จำเลยที่ 2 เห็นสมควรภายใน 30 วันนับแต่วันอ่านคำพิพากษา เพื่อเสนอแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศนี้ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบริเวณอ่าวมาหยาต่อศาล เพื่อพิจารณาการปฏิบัติตามแผนคณะทํางาน
ให้ทำแผนฟื้นฟูอ่าวมาหยา
สำหรับจำเลยที่ 4 ถึง 5 ให้รับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 27 ก.พ.2562 ซึ่งตามสัญญา จำเลยที่ 5 ประสงค์ และยินดีจะช่วยเหลืออนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยมอบเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้โจทก์ที่ 1 ถึง 2 นำไปใช้เพื่อการอนุรักษ์ตามอำนาจหน้าที่ และโจทก์ที่ 1 จะรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศาลทุกกำหนด 1 ปีเป็นเวลา 3 ปีหรือจนกว่าเงินจะหมด
อ่านข่าวเพิ่ม จับตา! ศาลฎีกา ตัดสินคดี The Beach ทำลาย "อ่าวมาหยา" พัง
ส่วนจําเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
จำเลยยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ภาพ : Sakanan Plathong
ต่อมาโจทก์ที่ 1 ถึง 2 ยื่นฎีกา โดยคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปว่า ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ทั้งนี้จนกว่า หาดมาหยา มีสภาพเดิมตามธรรมชาติ ตามที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานเพื่อทำแผนการแก้ไขฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน บริเวณอ่าวมาหยา เห็นชอบร่วมกัน หรือตามที่ศาลเห็นสมควร ในกรณีที่จำเลยที่ 2 และคณะทำงานดังกล่าว ไม่สามารถเห็นชอบร่วมกันได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ทั้งนี้การปฏิบัติตามคำพิพากษาฎีกา ให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาฎีกาภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะถูกบังคับตามคำพิพากษาตามขั้นตอนกฎหมาย
ชี้อ่าวมาหยาฟื้นตัวดี-ปิดตั้งแต่เกิดปัญหา
ถ้าเทียบช่วงที่มาถ่ายทำภาพยนตร์ในปี 2541 ยอมรับว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นมาก ทั้งชายหาด และพันธุ์ไม้ชายหาด เช่น พลับพลึงทะเล เตยทะเล แต่ถ้าให้ประเมินสภาพตอนนี้ทุกอย่างฟื้นฟูดีเกิน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ นายศักดิอนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกถึงคดีดังกล่าวว่า หลังจากที่เคยมีโอกาสเข้าพื้นที่ ยอมรับว่าการถ่ายทำภาพยนตร์สร้างความเสียหายกับพื้นที่ค่อนข้างมาก
ภาพ: Sakanan Plathong
ภาพการขุดอ่าวมาหยา ปรากฏต่อสาธารณชน มีการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น รถแบ็กโฮ ขุดชายหาด และสันทราย พันธุ์ไม้ชายหาด เช่น รักทะเล พลับพลึงทะเล เตยทะเล ผักบุ้งทะเล ถูกขุดเคลื่อนย้ายออกไป
เมื่อถามว่าสภาพปัจจุบัน นักวิชาการระบุว่า กรณีอ่าวมาหยา จุดดีคือหลังจากมีการประท้วงเกิดขึ้น กรมป่าไม้ ตอนนั้นสั่งปิดฟื้นที่ในช่วงคดีไว้นาน ไม่ให้ใครเข้าไปเหยียบย่ำซ้ำ และมีการทำแนวทางเดินไว้ชัดเจน จากเดิมบนหาดมาหยา ให้มีการกางเต็นท์ ก่อกองไฟ แต่เมื่อปิดพื้นที่ไม่มีการรบวนการจากนักท่องเที่ยวทำให้ฟื้นจากจุดเดิมไปเยอะ
ถ้าทิ้งเวลาธรรมชาติ สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ ทั้งป่าชายหาด และแนวปะการัง อาจจะถือเกินกว่าจุดดั้งเดิมด้วยความที่ไม่ได้เปิดให้ใช้พื้นที่ เพราะมีหลักฐานสำคัญทางคดี ธรรมชาติเลยฟื้นตัวดี
ภาพ: Sakanan Plathong
นายศักดิ์อนันต์ ระบุอีกว่า บทเรียนจาก The Beach คือข้อควรระวังที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติในถ่ายภาพยนตร์ โดยเฉพาะจุดที่เปราะบางต่อระบบนิเวศ ไม่ควรเข้าไปแตะต้อง ไม่ควรเปลี่ยนสภาพ เพราะระบบนิเวศชายหาด ถ้าเสียหายแล้วฟื้นฟูยาก
ในยุค 20 ปีก่อนยังมีความคลุมเครือในเชิงกฎหมาย จึงอาจมีช่องว่างเรื่องการอนุมัติ ที่สำคัญอยากย้ำว่าการโซนนิ่ง พื้นที่สำคัญที่เคยถูกกำหนด และสงวนธรรมชาติไว้ไม่ควรให้ใช้ประโยชน์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อ่าวมาหยา" สวรรค์อันดามัน กับการกลับมาของ "ฉลามหูดำ"