วันนี้ (19 ก.ย.2565) นายวิวัฒน์ชัย สมคำ หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคเหนือ ไทยพีบีเอส วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ ในรายการ "มุมการเมือง" ช่วง "ทั่วถิ่นการเมือง" โดยระบุว่า การลงพื้นที่ จ.ตาก ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน มีความหมายทางการเมืองคือ การตอกย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐ เป็นเจ้าของพื้นที่
แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม แต่เมื่อมีพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.ในเขต 1 และ เขต 3 ได้ย้ายไปร่วมพรรคพลังประชารัฐ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ เหลือ ส.ส.เพียง 1 คน คือ เขต 2
รวมถึงเมื่อในการเลือกตั้งครั้งนี้ จ.ตาก มี ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก 1 เขต รวม 4 เขตพล.อ.ประวิตร จึงลงพื้นที่เพื่อตอกย้ำการเป็นเจ้าของพื้นที่
ขณะที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการทวงพื้นที่ จ.ตาก คืน เนื่องจากเหลือเพียง 1 เก้าอี้ ใน จ.ตาก ในพื้นที่ภาคเหนือ จึงถือว่า ปี่กลองทางการเมืองเริ่มดังขึ้นแล้วใน จ.ตาก
ขณะที่ในการลงพื้นที่ดังกล่าว ของ พล.อ.ประวิตร มี ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ไปให้การต้อนรับด้วยทั้งคีย์แมนของพรรคเศรษฐกิจไทยอย่าง นายไผ่ ลิกค์ และ ส.ส.พะเยา หลายคน แต่ไร้เงาของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีความหมายทางการเมืองพอสมควร โดยหลังจาก พล.อ.ประวิตร กลับจากการลงพื้นที่ อ.แม่สอด ก็ระบุว่า พร้อมหลีกทางให้ พรรคเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทางทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้เคยพูดคุย กับ ร.อ.ธรรมนัส โดยระบุว่า "จ.พะเยา อาจจะเป็นหนึ่งเดียว" ซึ่งยังไม่ทราบว่าคำพูดดังกล่าวหมายความว่าอย่างไร
เนื่องจากก่อนหน้านี้ จ.พะเยา เคยเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย โดย ร.อ.ธรรมนัส เคยสังกัดพรรคไทยรักไทย และต่อมาย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ คำพูดนี้จึงมีหลายความหมาย คือ จะกลับไปพรรคพลังประชารัฐ หรือ กลับไปพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ จ.พะเยา นั้น ร.อ.ธรรมนัส ได้วางเครือข่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ไว้ รวมถึงวางน้องชายคือ นายอัครา พรหมเผ่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา (อบจ.พะเยา)ไว้แล้ว
แต่ต้องไม่ลืมว่า จ.พะเยามี ส.ส.ทั้งหมด 3 เขต โดยเขต 1 เป็นของ ร.อ.ธรรมนัส และ เขต 3 เป็นของ นายจีรเดช ศรีวิราช ซึ่งเป็นคนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส
ขณะที่เขต 2 เป็นของ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส. 5 สมัย พรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องลุ้นว่าจะเป็นอย่างไร แต่พื้นที่ที่เหนียวแน่นคือ เขต 1 และเขต 3 จะยังเป็นของ ร.อ.ธรรมนัส
ขณะที่ พื้นที่ จ.ลำปาง เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย 3 เขต และในการเลือกตั้งซ่อมก็เป็นของพรรคเสรีรวมไทยที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 25 เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคก้าวไกล
รวมถึง จ.ลำปาง เป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดของประเทศ พรรคก้าวไกลจึงชูนโยบายดูแลผู้สูงอายุ และดูแลเรื่องมลพิษของโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นการรักษาฐานเสียงร้อยละ 25 และหวังเพิ่มคะแนนในประชาชนกลุ่มหนุ่มสาว
ขณะที่ ส.ส.เขต จะยังค่อนข้างยาก เนื่องจากมีตระกูลหลักคือ "โล่ห์สุนทร" และ "จันทรสุรินทร์" เป็นเจ้าของพื้นที่ ดังนั้น พื้นที่ภาคเหนือตอนบนความได้เปรียบจึงเป็นของพรรคเพื่อไทย
ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างจะมีความหลากหลาย โดยมากที่สุดคือ พรรคพลังประชารัฐ รองลงมาคือ พรรคภูมิใจไทย ที่ครอง 7 ที่นั่ง เป็น ส.ส.ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 ที่นั่ง และภาคเหนือตอนล่าง 6 ที่นั่ง
ขณะที่ จ.พิจิตร ค่อนข้างคึกคักมากที่สุดที่พรรคภูมิใจไทย วางตัวนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต รมช.คลัง และ ส.ส.พิจิตร 4 สมัย และอดีตเลขาฯพรรคประชาธิปัตย์ ไว้
รวมถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ลงพื้นที่ช่วย ส.ส.เดิมหาเสียงด้วย ดังนั้นในพื้นที่ จ.พิจิตรจึงเป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง