รัฐบาลญี่ปุ่นถูกจับตามองตั้งแต่ประกาศว่าจะจัดรัฐพิธีศพให้กับ "ชินโสะ อาเบะ" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บริหารญี่ปุ่นยาวนานที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของโลก โดยยิ่งใกล้วันงาน กระแสคัดค้านก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
เมื่อครั้งยังมีชีวิต ชินโสะ อาเบะ คือผู้นำที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะการพลิกนโยบายสายพิราบ ที่ฝังรากลึกในการเมืองญี่ปุ่นมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ตัวเขากลายเป็นหัวข้อถกเถียงในสังคมมากที่สุด
การตัดสินใจของ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่จะให้รัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดรัฐพิธีศพของอาเบะ ทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังมากยิ่งขึ้น
สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น ทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดรัฐพิธีศพให้กับอาเบะ เมื่อเดือน ก.ค.และเดือน ก.ย.นี้ เมื่อนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกันพบว่ามีจำนวนคนที่เห็นด้วยลดลง สอดคล้องกับตัวเลขของคนคัดค้านที่เพิ่มสูงขึ้นเกินครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด
ผลสำรวจสะท้อนออกมาชัดเจนผ่านการเดินขบวนประท้วงของชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก การประกาศไม่เข้าร่วมงานรัฐพิธีของนักการเมืองฝ่ายค้าน รวมไปถึงกรณีที่ชายชาวญี่ปุ่นจุดไฟเผาตัวเองใกล้กับสำนักนายกรัฐมนตรีในกรุงโตเกียว
อ่านข่าว : ชายญี่ปุ่นจุดไฟเผาตัวเองประท้วงจัดรัฐพิธีศพให้ "ชินโสะ อาเบะ"
แต่อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้กระแสต่อต้านการจัดรัฐพิธีศพรุนแรงมากขึ้น ?
เหตุผลหลักข้อแรก คือ เรื่องเงิน
นับตั้งแต่อดีต ญี่ปุ่นเคยจัดรัฐพิธีศพให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ โยชิดะ เมื่อปี 1967 เพียงคนเดียว ขณะนั้นรัฐบาลจ่ายไป 18 ล้านเยน หรือไม่ถึง 5 ล้านบาท แต่หากคำนวณมูลค่าของเงินเทียบกับปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ราวๆ 18 ล้านบาท
แต่ตัวเลขประมาณการค่าใช้จ่ายงานอาเบะ อยู่ที่ 431 ล้านบาท คาดว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาความปลอดภัย ขณะที่ค่าใช้จ่ายในพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งเป็นข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ Daily Mirror ประเมินว่า พระราชพิธีนี้อังกฤษจ่ายไป 325 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่างานของอาเบะ
เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ชาวญี่ปุ่นจะนำประเด็นการจัดรัฐพิธีศพของอาเบะ ไปเปรียบเทียบกับพระราชพิธีพระบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เพราะชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งมองว่า พระราชพิธีดังกล่าวเป็นงานยิ่งใหญ่ระดับโลก เพื่อให้สมพระเกียรติและมีการเชิญผู้แทนต่างชาติกว่า 500 คนเข้าร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับผู้นำประเทศ
ขณะที่รัฐพิธีศพของอาเบะ แม้ว่าจะเชิญแขก 700 คนจาก 217 ประเทศทั่วโลก รวมถึงคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ, นเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย และแอนโทนี อัลบานีซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แต่มีรายงานว่า แขกส่วนใหญ่ที่จะมางานนี้เป็นระดับอดีตผู้นำประเทศ ดังนั้นการหวังผลทางการทูตด้วยการใช้รัฐพิธีศพของอาเบะ อาจไม่ได้ผลเท่าไหร่
รัฐพิธีศพ "อาเบะ" ฉุดคะแนนนิยม "คิชิดะ"
นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว การทำเช่นนี้ยังย้อนศรมาบั่นทอนคะแนนนิยมของผู้นำญี่ปุ่นด้วย โดยสถานีโทรทัศน์ NHK นำข้อมูลผลสำรวจความพึงพอใจในผลงานของคณะรัฐมนตรีชุดคิชิดะ นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 จนถึงปัจจุบัน มาพล็อตกราฟ
การทำเช่นนี้ยังย้อนศรมาบั่นทอนคะแนนนิยมของผู้นำญี่ปุ่นอีกด้วย โดยสถานีโทรทัศน์ NHK นำข้อมูลผลสำรวจความพึงพอใจในผลงานของคณะรัฐมนตรีชุดคิชิดะ นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันมาพล็อตกราฟ
โดยเห็นว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุลอบสังหารอาเบะ คะแนนนิยมของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ตกลง สวนทางกับความไม่พอใจของสาธารณชนที่พุ่งสูงขึ้น จนขณะนี้อยู่เท่ากันที่ 40% ซึ่งถือว่ามีคะแนนนิยมต่ำที่สุดนับตั้งแต่คิชิดะก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ
ขณะที่สื่อญี่ปุ่นบางสำนักอย่าง ไมนิจิ ชี้ว่า คะแนนนิยมในตัวคิชิดะลดฮวบลงมาอยู่ที่ 29% ซึ่งถือว่าอยู่ในโซนอันตราย และอาจกระทบต่อการผลักดันนโยบายต่างๆ ได้
คะแนนนิยมที่ลดลง อาจมองได้ว่าเป็นหนึ่งในแรงสะท้อนของกระแสต่อต้านการจัดรัฐพิธีศพให้กับอาเบะ ซึ่งกระแสนี้ยิ่งถูกโหมกระพือจากกรณีความเชื่อมโยงของสมาชิกพรรค LDP ของคิชิดะ กับกลุ่มทางศาสนาอย่าง Unification Church
พรรครัฐบาล ยอมรับว่า มี ส.ส.อย่างน้อย 179 คนจากทั้งหมด 379 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มศาสนากลุ่มนี้ ซึ่งในจำนวนนี้มีรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วยถึง 7 คน ก่อนที่จะมีการประกาศปรับ ครม. เพื่อกู้ภาพลักษณ์เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
อ่านข่าวอื่นๆ
ไต้ฝุ่น "โนรู" พัดถล่มฟิลิปปินส์ สั่งอพยพหลายพันคน-ปิดโรงเรียน
อาจารย์ มธ. ยืนยัน "สี จิ้นผิง" ถูกกักบริเวณ เป็นข่าวปลอม
"ปูติน" สั่งระดมพล จุดชนวน "ประชาชน" อพยพหนี