เคสทับเสลา จะเป็นเคสแรกของกรมอุทยานฯ ที่จะปล่อยลูกช้างป่าคืนสู่ธรรมชาติ ภายหลังผ่านการเลี้ยงดู และผ่านกลไกการฝึกแบบช้างป่ามา 2 ปี
ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ส่วนสารสนเทศด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงความพร้อมในการเตรียมส่งคืนลูกช้างป่าทับเสลา ขวัญใจชาวโซเชียล กลับคืนสู่อ้อมกอดของโขลงช้าง
หลังจากเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2563 ได้เกิดเหตุการณ์ลูกช้างป่าอายุ 2-3 เดือน พลัดหลงกับโขลงช้างบริเวณป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงดูแลสุขภาพ และถูกส่งมาดูแลที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง ตั้งแต่พ.ย.2563 จนถึงปัจจุบันเกือบ 2 ปีจนลูกช้างมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
อ่านข่าวเพิ่ม เร่งช่วย "ลูกช้างป่า" ห้วยขาแข้ง พลัดหลงแม่
ภาพ:เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง
ดร.ศุภกิจ บอกว่า การดูแลลูกช้างป่าจนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเกิดขึ้นไม่บ่อย ในไทยถือเป็นเคสแรก ๆ แม้ที่ผ่านมาจะมีลูกช้างป่าพลัดหลงเยอะ แต่การที่จะเลี้ยงดูแลช้างโดยมีแม่รับ และนำไปสู่การปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ยังไม่เห็นชัด ดังนั้น เคสทับเสลา จะเป็นเคสแรกของกรมอุทยานฯ ที่จะปล่อยลูกช้างป่าคืนสู่ธรรมชาติ ภายหลังการผ่านการเลี้ยงดู และผ่านกลไกการฝึกแบบช้างป่ามา
ลูกช้างทับเสลา เข้ามาอยู่ที่ดอยผาเมือง ตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 ตอนนี้มีอายุ 2 ขวบครึ่ง หย่านม 100% โชคดีที่ทีมผู้ดูแลสัตวแพทย์จากกรมอุทยาน สถาบันคชบาล และหมอช้างจาก มช.มาช่วยดูแลสุขภาพ โภชนาการของลูกช้าง
ฝึกใช้งวง-เดินป่าปรับชีวิตหาอาหารเอง
ก่อนหน้านี้ลูกช้างป่าทับเสลา ได้ถูกฝึกให้เริ่มให้เรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติ เนื่องจากพลัดหลงจากแม่ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ต้องฝึกวิธีการใช้งวง การกินน้ำต้องเรียนรู้ใหม่ จากแม่หรือช้างโต
ความยากของมัน คือทำให้ช้างเรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติ ทีละเล็กทีละน้อย รวมถึงการกินพืชอาหารในธรรมชาติ หลังจากเลิกนม เริ่มจากการใช้หญ้าฝึกให้กินใบไผ่ ซึ่งดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนมา
ภาพ:เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง
ดร.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการเลี้ยงดูลูกช้าง มีองค์ประกอบหลายอย่างทั้งสุขภาพลูกช้างที่ไม่ได้รับน้ำนมเหลืองจากแม่ และเป็นข้อกังวลเรื่องโครงสร้างกระดูก โภชนาการและการย่อยอาหารตรงนี้ทางสถาบันคชบาล ได้นำน้ำนมเหลือง จากแม่ช้างแม่ลูกอ่อนมาให้ทับเสลากิน เสริมสภาวะภายในของทับเสลา
ส่วนเรื่องแม่รับของทับเสลา ลองผิดกันมากว่าจะได้แม่รับที่ถูกจริต ของทับเสลา มาถึงตัวที่ 5 คือพังวาเลนไทน์ ที่ยอมรับทับเสลาเป็นลูก
หลังจากนั้นได้ให้ทับเสลาฝึกการใช้ชีวิตในป่า ซึ่งแรก ๆ ก็ยากเพราะทับเสลาติดพี่เลี้ยง เคยอยู่กับคน และการค่อยแยกคนกับลูกช้างเป็นกลไกต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้ทับเสลาอยู่ได้ด้วยตัวเอง และอยู่ได้กับช้างแม่รับ เพื่อไม่ผูกพันกับคน เพราะยิ่งถ้าอยู่ใกล้คนโอกาสจะคืนสู่ธรรมชาติก็ยากขึ้น
ภาพ:เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง
การพัฒนาทั้งสุขภาพร่างกาย การลดปฏิสัมพันธ์กับคนต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน หลังจากนั้นเริ่มขยับช้างจากพื้นที่ใกล้คน ไปยังพื้นที่ห่างไกลขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มลดระยะเวลาของการที่คนเข้ามาดูแลเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ยังมีการประเมินสุขภาพช้างแม่รับ และทับเสลา จนมาถึงวันนี้ก็ใกล้ที่จะถึงระยะเวลาที่พร้อมแล้ว เพราะช้างทับเสลาอดนม 4 เดือนจะอยู่ได้ด้วยการกินพืชอาหารตามธรรมชาติ และมีอาหารเสริมบ้าง เพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวลด และก่อนจะถึงช่วงสุดท้ายของการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติจริงๆ
ตอนนี้อยู่ในห้วงของการตรวจสอบโรค และสุขภาพในขั้นสุดท้ายและถ้ากลไกนี้ทั้งสองเรื่อง ไม่มีปัญหา อยู่ในสภาวะที่ดี และลูกช้างการปล่อยลูกช้าจะเกิดขึ้นในกลางเดือนต.ค.นี้
ภาพ:เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง
ติดปลอกคอแม่ช้าง ดูแลพฤติกรรมหลังปล่อยเข้าป่า
นักวิชาการ ระบุว่า การปล่อยสู่ธรรมชาติ เนื่องจากเดิมเคยเลี้ยงในที่ราบ แต่ในดอยผาเมือง จะมีสภาพภูมิประเทศลุ่มๆ ดอนๆ ทางสัตวแพทย์ ต้องติดตามต่อว่าแรงกำลังของลูกช้าง และสภาวะค่ากรดในกล้ามเนื้ออาจจะเกิดได้จากการใช้แรงในการเดิน จากการเดินที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามการใช้ชีวิตกลับในพื้นที่ธรรมชาติ และกลับคืนโขลงช้าง ด้วยการการติดอุปกรณ์ติดตามตัวที่แม่รับ คือพังวาเลนไทน์ เพื่อให้ติดตามการใช้ชีวิต และรูปแบบการใช้ชีวิตของลูกช้างด้วย เพราะจะใช้เป็นต้นแบบในการจัดการลูกช้างในลักษณะนี้อีกต่อไป
จุดที่ลุ้นคือเป็นเรื่องสภาพภูมิประเทศที่ช้างไม่เคยชิน และแม่ช้างวาเลนไทน์ ที่เคยอยู่ในโขลงมาก่อน ดังนั้นโอกาสที่จะกลับไปโขลงเดิมเป็นไปได้สูง แต่โขลงเดิมไม่เคยเจอลูกช้างตั้งแต่แรก
ภาพ:เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง
นอกจากนี้ ตรงนี้ข้อกังวลว่าโขลงช้างเดิม จะรับทับเสลาหรือไม่ แต่มีความหวังสูง เพราะตัวช้างวาเลนไทน์ รับลูกช้างแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าเขาจะไม่ทิ้งลูกช้างไป ถึงแม้ว่าโขลงอาจจะยังไม่รับ ต้องระวังการกลับเข้าโขลง เพราะถ้าช้างตัวใหญ่ไม่เอา แค่นิดเดียว จึงต้องระมัดระวัง และเป็นเรื่องที่คณะทำงานต้องวางแผนหลังจากปล่อยลูกช้างคืนป่าไปแล้ว
สำหรับทับเสลา ตอนนี้อยู่ในพื้นที่รองรับแห่งใหม่ เดิมอยู่ในเขตหน่วยพิทักษ์ป่าหัวทุ่ง ของดอยผาเมือง เป็นแคมป์ที่ดูแลทั้ง 2 ตัว แต่ตอนนี้ขยับจากจุดเดิมอัก 4 กิโลเมตรที่สำรวจแล้วว่ามีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการกลับสู่โขลง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
หาแม่รับ "ลูกช้างป่าห้วยขาแข้ง" ออกเดินทางไปลำปางคืนนี้
ลุ้นภารกิจปล่อย "ลูกช้าง" คืนแม่ช้างป่าห้วยขาแข้ง
ฟื้นฟูร่างกาย ลูกช้างป่าห้วยขาแข้งพลัดหลง แผลที่ขาดีขึ้นมาก