วันนี้ (25 ต.ค.2565) นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จ.จันทบุรี เปิดเผยผ่านรายการ Newsroom Daily รายการออนไลน์ของไทยพีบีเอส ว่า จากกรณีการมีคำสั่งโยกย้ายไปดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการกอง” (ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน วิชาการเกษตร กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร)
นายชลธี มองว่าไม่ใช่เป็นการโยกย้ายข้าราชการนอกฤดูกาล ซึ่งเป็นการโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งปกติของกรมวิชาการเกษตร แต่การโยกย้ายครั้งนี้เป็นการโยกย้ายสลับตำแหน่งไม่ได้เป็นการแทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งทางกรมฯไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า ไม่มีการพูดคุยหรือชี้แจงทำความเข้าใจ
อีกทั้งการโยกย้ายครั้งนี้เป็นการโยกย้ายในระนาบเดียวกันจากซี 9 ไปซี 9 การโยกย้ายครั้งนี้อาจจะส่งผลต่อวงการเกษตร การส่งออกผลไม้ในภาคตะวันออกได้ เนื่องจาก "ทีมเล็บเหยี่ยว" ทำงานเรื่องปราบทุเรียนอ่อนมา 2 ปี ซึ่งใกล้จะเป็นบรรทัดฐานให้ทุเรียนภาคตะวันออกเป็นที่ยอมรับ
การทำงานที่ผ่านมาอย่างมุ่งมั่นอาจจะไปขัดผลประโยชน์ของคนหลายๆ กลุ่ม หรือไม่นั้น ซึ่งนายชลธี ระบุว่า คงเป็นเช่นนั้น คงไม่มีเหตุผลอื่น โดยเมื่อต้นปียังได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2564 แต่เมื่อมาถึงปลายปีก็เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทั้งนี้ได้เคยแจ้งไปแล้วว่าไม่เคยต้องการตำแหน่งหน้าที่สูงหรือต้องการความก้าวหน้าในชีวิตต้องการ แต่ต้องการแค่ทำงานรับใช้ จ.จันทบุรี จ.ตราด หรือภาคตะวันออก ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด และมีความตั้งใจที่จะพัฒนาอาชีพเกษตร
การทำงานที่ผ่านมาเอาจริงเอาจังเรื่องการปราบทุเรียนอ่อน บางครั้งอาจจะมีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง มีเครือข่ายที่เค้าบอกว่าเป็นเครือข่ายของนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง หลายครั้งที่เข้าไปจับก็จะบอกว่าเป็นล้งของที่ปรึกษา ของที่ปรึกษา ทำนองนั้น
ทั้งนี้จากกรณีที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้เหตุผลว่าเป็นการโยกย้ายตามระเบียบ อีกทั้งนายชลธีเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ควรจะไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับพื้นที่อื่นๆ และที่สำคัญนายชลธีอยู่ในพื้นที่มานานถึง 31 ปี นายชลธีกล่าวว่าถ้าเป็นความหวังดีก็ต้องขอบคุณ และไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียว 31 ปี แต่เป็นการทำงานที่ปรับระดับขึ้นมาเรื่อยๆ
พร้อมยอมรับคำสั่ง แต่ก็มีทางเลือกที่จะลาออกจากราชการ เพราะไม่สามารถที่ย้ายไปไปปฏิบัติหน้าที่ที่พื้นที่อื่นได้ เพราะมีภาระทางครอบครัว
ในเบื้องต้นได้เรียกประชุมทีมเล็บเหยี่ยวให้มุ่งมั่นทำงานต่อไป อย่าท้อแท้ และเสียกำลังใจ และเชื่อว่าคนใหม่ที่มารับตำแหน่งเชื่อว่าจะทำงานหนัก ถึงได้รับการยอมรับจากเกษตรกรในพื้นที่
จากมีการประชุมทำให้เห็นภาพว่าองค์กรภาคเอกชนมารวมกันกันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มองว่าน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนว่าทุกคนตระหนักแล้วว่าถ้าไม่มีการควบคุมคุณภาพทุเรียน ไม่ร่วมมือกัน ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรแน่นอน และจะเป็นจุดผลักดันให้รัฐบาลทำงานอย่างเข้มแข็ง
ผมให้น้ำหนักไปที่การขบวนการนำทุเรียนเวียดนามมาสวมสิทธิ์ เพราะมีมูลค่ามหาศาล เมื่อเข้าไปขัดขวางทำให้กลุ่มคนกลุ่มนี้เสียผลประโยชน์ น่าจะเป็นจุดนี้ที่อยากทำให้ผมออกจากพื้นที่
16 องค์กร ค้านย้ายมือปราบทุเรียนอ่อน
เครือข่ายชาวสวนทุเรียนและผู้ส่งออกทุเรียน 16 องค์กร เช่น สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก สมาคมทุเรียนไทย เดินทางมาให้กำลังใจ นายชลธี นุ่มหนู
หนึ่งในชาวสวน เห็นว่า การโยกย้ายนอกฤดูกาลครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไปประเทศจีน
สอดคล้องกับนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ระบุว่า หากผู้บริหารที่มาใหม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการออกใบรับรองมาตรฐาน GAP และมีการสานต่อนโยบายนี้ก็จะทำให้การส่งออกทุเรียนราบรื่น แต่หากไม่มีความเข้าใจจะกระทบการส่งออก