วันนี้ (12 พ.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันแรกเต็มไปด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา หลังจากสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
ภายหลังการประชุมอาเซียนได้มีการออกแถลงการณ์ 15 ข้อ อันเป็นผลมาจากการหารือเข้มข้นในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อเดือน ส.ค.และเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสาระสำคัญของแถลงการณ์ฉบับนี้ หนีไม่พ้นประเด็นที่ผู้นำชาติสมาชิกเห็นชอบให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนด้านเมียนมาเข้าหารือพูดคุยกับทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้งนี้โดยเร็ว
การระบุเช่นนี้ อาจมองได้ว่า ผู้นำอาเซียนกำลังเปิดทางให้มีการเปิดการหารือกับผู้แทนจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งรวมถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาด้วย และแน่นอนว่า เมื่ออาเซียนมีท่าทีออกมาแบบนี้ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างมาก
กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาออกแถลงการณ์คัดค้านและประณามความพยายามของชาติสมาชิกอาเซียนในการดึงองค์กรก่อการร้ายและไร้กฎหมายเข้ามาสู่การเจรจา แต่ทางฝั่งอาเซียนเองมองว่าเมื่อความพยายามเดิม ๆ ในการบังคับใช้ฉันทามติ 5 ข้อไม่เป็นผลและกดดันเมียนมาไม่ได้ ก็ต้องมองหาวิธีการใหม่ ๆ ที่น่าจะได้ผลมากกว่านี้
โฆษกการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ใช้โอกาสระหว่างการแถลงข่าวช่วงเย็นวานนี้ ชี้ว่า เป็นความรับผิดชอบของอาเซียนในการที่จะต้องแก้ไขวิกฤตในเมียนมาให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะความล่าช้าที่เกิดขึ้นหมายถึงผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
หลังจากนี้ เรื่องจะกลับไปอยู่ที่วงประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอีกครั้ง เพื่อวางแผนการบังคับใช้ฉันทามติ 5 ข้อ พร้อมทั้งกำหนดตัวชี้วัดและกรอบเวลาที่ชัดเจน ก่อนที่จะส่งกลับมาให้ผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนให้ความเห็นอีกครั้งหนึ่ง
ไฟเขียว "ติมอร์ เลสเต" เป็นสมาชิกชาติที่ 11
นอกเหนือจากเรื่องเมียนมาแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นข่าวใหญ่ คือ เรื่องการรับสมาชิกใหม่ของอาเซียน ซึ่งผู้นำอาเซียนยอมรับในหลักการให้ติมอร์ เลสเต เข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 11 รวมทั้งเห็นชอบให้สถานะประเทศผู้สังเกตการณ์และอนุญาตให้ติมอร์ เลสเต เข้าร่วมการประชุมได้ในทุกการประชุม ซึ่งรวมถึงเวทีผู้นำด้วย
สำหรับการประชุมในวันนี้ที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งรอบนี้ โจ ไบเดน เดินทางมาเข้าร่วมงานด้วยตัวเอง หลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ปรากฏตัวบนเวทีอาเซียนมานานถึง 5 ปี โดยการกลับมาครั้งนี้ ต้องติดตามว่า สหรัฐฯ จะเอาอะไรมาหว่านล้อมและจูงใจอาเซียนบ้าง