การเดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แม้จะมีคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย แต่นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เชื่อว่า หากกฎหมายนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้บรรยากาศการเมืองดีขึ้น และอาจนำไปสู่การปลดล็อกสถานการณ์ทางการเมือง
พร้อมยืนยันว่า กฎหมายนี้จะไม่ครอบคลุมความผิด 3 กรณี คือ การทุจริตคอร์รัปชัน ความผิดทางอาญาที่รุนแรง และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ อ้างว่า เป็นคนละประเด็นกับเงื่อนไขการชุมนุมทางการเมือง หรือ การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน
เบื้องต้น คาดว่า นพ.ระวี จะเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านภายในสัปดาห์นี้ เพื่อขอแนวทางในการขับเคลื่อน ก่อนจะสรุปเนื้อหาเพิ่มเติมบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนขั้นตอนการขับเคลื่อนมีอยู่ 2 แนวทาง คือ การเสนอผ่าน ครม.หรือ ส.ส.ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง คือ การเสนอผ่านรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยคาดว่า กฎหมายนี้จะแล้วเสร็จก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประกาศยุบสภา
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เห็นว่า การนิรโทษกรรมทางการเมืองเป็นกุศลและเจตนา เพราะการต่อสู้ทางการเมืองที่เกิดจากความเห็นต่างกัน ไม่ใช่ความผิด ดังนั้น อาจต้องพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายให้รอบคอบ และต้องครอบคลุมทุกฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติ
แม้ว่า นพ.ระวี ยืนยันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่หลายฝ่ายยังกังวลว่า จะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ หลังเมื่อปี 2556 สภาฯ ผ่านกฎหมายที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ "นิรโทษกรรมสุดซอย" ยิ่งระยะหลัง นายทักษิณ เปรยบ่อยครั้งผ่านรายการออนไลน์ของกลุ่มแคร์ว่า จะกลับบ้าน หรือ อยากกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน ซึ่งประเด็นนี้ จะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยหรือไม่
หากย้อนไปดูผลสำรวจนิด้าโพล 5 ครั้งล่าสุดของแต่ละภาค พบว่า คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยและ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นอันดับ 1 แทบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนนิยมสูงสุด