ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สภาลมหายใจเชียงใหม่ ร้องรัฐเร่งให้ข้อมูลป้องกัน และลดฝุ่นควันในทุกๆ สาเหตุ

ภูมิภาค
14 พ.ย. 65
18:02
427
Logo Thai PBS
สภาลมหายใจเชียงใหม่ ร้องรัฐเร่งให้ข้อมูลป้องกัน และลดฝุ่นควันในทุกๆ สาเหตุ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ เชื่อฝุ่น PM 2.5 เป็นหนึ่งในสาเหตุ ที่ทำให้ "หมอไท" เจ้าของเฟซบุ๊ก "สู้ดิวะ" ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย พร้อมเรียกร้องภาครัฐ เร่งรัดให้ข้อมูลป้องกันแก่ประชาชน และลดฝุ่นควันในทุกๆ สาเหตุ

อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ เกี่ยวกันกรณี นายแพทย์ กฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี หรือ หมอไท อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก "สู้ดิวะ" ว่ากำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่ไม่สูบบุหรี่ และดูแลสุขภาพร่างกายเป็นอย่างดี ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุว่าอาจมาจากปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่

 

อาจารย์ชัชวาลย์ ได้กล่าวแสดงความเห็นใจ และเสียใจ กับ หมอไท อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ที่ต้องได้รับผลกระทบด้านสุขภาพที่หนักมาก ซึ่งจากการวิเคราะห์เบื้องต้น เชื่อว่ามลพิษฝุ่นควัน PM 2.5 น่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุ เพราะในช่วง 10 ปี หลังสถานการณ์ฝุ่นควันรุนแรง และหากคนได้รับมลพิษต่อเนื่อง โอกาสที่จะเป็นมะเร็งปอด จึงมีสูงมาก รวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือด และ โรคหัวใจ

 

อ้างอิงได้จากงานวิจัยของ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ก็ระบุชัดว่า ในปีหนึ่งๆ มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุอันเกี่ยวเนื่องกับ PM 2.5 ถึง 40,000 คน มากกว่าผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ด้วยซ้ำไป

 

เพียงแต่ฝุ่นควันไม่เห็นตัว และอาจจะไม่ส่งผลแบบฉับพลันทันใด เพราะมีลักษณะสะสมในร่างกาย ด้วยขนาดที่เล็กมาก เล็กกว่าเส้นผมถึง 10 เท่า จึงสามารถเข้าไปอยู่ในหลอดเลือด เข้าไปอยู่ในปอด เข้าไปอยู่ในร่างกายเราทีละน้อยจนไม่อาจจะรู้ตัว

รัฐบาลจึงควรจะมีนโยบายให้ข้อมูล ให้ข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดการรับรู้ และป้องกันตัวเอง มีกระบวนการสนับสนุนให้เกิดการป้องกันตัวเอง ตั้งแต่การใช้แมสที่ถูกต้อง มีพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Zone ที่จะสามารถดูแลผู้คน

 

และ ที่สำคัญก็คือการให้ความรู้ว่า ฝุ่นควันในเวลานี้ เราควรจะออกมากลางแจ้งหรือไม่ เช่น ถ้าอากาศอยู่ในเกณฑ์ สีแดง สีม่วง สีส้ม ไม่ควรออกมา ซึ่งก็มักจะเป็นในช่วงเวลา ค่ำ เย็น และตอนเช้า ส่วนในตอนสาย อากาศร้อนขึ้น หรือ ตอนบ่าย ฝุ่นลดปริมาณลง เราจึงสามารถออกมาข้างนอกได้

โดยกระบวนการที่ทำให้ประชาชนรู้วิธีการปฏิบัติตัว ที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนในการแจ้งข่าว แจ้งเตือน หรือ สร้างการรับรู้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ควรมีการวางแผนดำเนินการในลักษณะคล้ายๆ กับโรคโควิด19 เพื่อทำให้คนเกิดความเข้าใจ แล้วใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่หวาดกลัว

 

สำหรับกรณี หมอไท ถือ เป็นเคสที่ 2 ของบุคลากรใน ม.เชียงใหม่ ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด โดยรายแรกที่เสียชีวิตไปแล้ว คือ รศ.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร อาจารย์ประจำ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งระบุสาเหตุของโรคไว้ว่าน่าจะมาจากฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้กำลังสะสมอยู่ในผู้คนในเมืองเชียงใหม่อย่างไม่รู้ตัว

รัฐบาลจำเป็นจะต้องมีนโยบายเร่งรัด 2 เรื่อง คือ 1 ให้ข้อมูลป้องกันด้านสุขภาพแก่ผู้คนอย่างเร่งด่วน 2. ลดฝุ่นควันในทุกๆสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม ขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม ไฟป่า ไฟในพื้นที่เกษตร พื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นเราจะเจอกรณีที่คล้ายกันแบบนี้ มากขึ้น และมากขึ้น แน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง