เตรียมหาที่ปรึกษากฎหมาย หลังหารือรัฐ 1 ปีไม่คืบ
น.ส.กัญจน์ณัฏฐ์ ภารฤทธิ์ กำนันตำบลศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า ชุมชนกำลังหาทนายเอกชนเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านด้านกฎหมาย หลังปัญหาแนวเขตที่ดินที่ทับซ้อนระหว่างชุมชนกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเรื้อรังมากกว่า 1 ปี และไม่มีความคืบหน้าใดเกิดขึ้น
ที่มาของปัญหา เกิดจากกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนผังเมืองโบราณศรีเทพ เป็นโบราณสถานในปี 2506 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 29 ซึ่งปรากฏแนวเขตขึ้นทะเบียนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบคลุมแนวเขตเมืองโบราณทั้งหมด แต่ไม่มีการระบุพิกัดแนวเขตชัดเจน ดังภาพ
ภาพผังเมืองโบราณศรีเทพเป็นโบราณสถาน หรืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 29 ปี พ.ศ. 2506
แต่เมื่อนำแนวเขตนี้มาปรับกับพิกัดแผนที่ดาวเทียมในปัจจุบัน พบว่า ผังแนวสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านหลายหมู่บ้านของ ต.ศรีเทพ และทางพื้นที่เพิ่งทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2564
หลังจากชาวบ้านบางคนไม่สามารถเปลี่ยน น.ส.3 ก. เป็นโฉนดที่ดินได้ โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาวิเชียรบุรี ว่า กรมศิลปากรคัดค้านการออกโฉนด เนื่องจากที่ดินอยู่ในเขตโบราณสถานเมืองศรีเทพ
อย่างไรก็ตาม นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น เคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรคนใด เป็นผู้คัดค้านการออกโฉนดของชาวบ้าน
จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีชาวบ้านคนใด สามารถทำรังวัดและเปลี่ยน น.ส.3 ก. เป็นโฉนดได้เลย เนื่องจากสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ฯ ยืนยันว่า ให้ไปตกลงแนวเขตกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ให้เรียบร้อยก่อน
ไร้เงากรมศิลปากรรังวัดแนวเขตที่ดินให้ชัด แม้มีมติร่วมกัน
วันที่ 7 ธ.ค.2564 มีการประชุมร่วมกันระหว่าง นายสหชัย แจ่มประสิทธิ์กุล นายอำเภอศรีเทพ ในขณะนั้น นายสิทธิชัย พูดดี หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ สาขาวิเชียรบุรี และตัวแทนชาวบ้าน
หนึ่งในประเด็นการประชุม คือ กรณีการทับซ้อนกัน ระหว่างแนวเขตที่ดินของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตามประกาศในราชกิจจาบุเบกษาปี 2506 และที่ดินของชาวบ้าน
มติที่ประชุมระบุชัดเจนว่า เห็นควรเสนอให้กรมศิลปากร สำรวจรังวัดเพื่อจัดทำแนวเขตที่ดินเมืองโบราณศรีเทพขึ้นใหม่ ภายใต้การมีส่วนร่วมกับชุมชน แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น ถึงแม้ทางชุมชนทำหนังสือทวงถามผ่านอำเภอศรีเทพไปเป็นระยะ
กำนันตำบลศรีเทพให้ข้อมูลว่า หลังการประชุมครั้งนั้น มีเพียงกรมธนารักษ์ที่เข้ามาสำรวจรังวัดแนวที่ดิน และพบว่ามีชาวบ้านจำนวน 5 ครัวเรือน ที่มีแนวเขตทับซ้อนกับแนวคูน้ำคันดินของกรมธนารักษ์ ขณะที่ชาวบ้านเหล่านั้นต่างอ้างว่า ตนเองมีโฉนดที่ดินถูกต้อง ล่าสุด เรื่องนี้จึงเข้าสู่กระบวนการคัดค้านตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
เราจึงอยากได้ความชัดเจนจากกรมศิลปากร เหมือนกับที่กรมธนารักษ์ทำ เราขอแค่ความชัดเจนเท่านั้น ถ้ากรมศิลปากรจะใช้ประกาศแนวเขตตามปี 2506 ก็ยืนยันมาให้ชัดว่าจุดไหนถึงจุดไหน ชาวบ้านจะได้วางแผนรับมือกับผลกระทบได้
กว่า 200 คน เสี่ยงไร้ที่ดิน 25 คน ไร้ที่ทำกินไปแล้ว
ภาพแนวที่ดินที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพกับที่ดินของชาวบ้าน
เมื่อนำแนวเขตเมืองโบราณศรีเทพ ปี 2506 โดยสังเขป มากำหนดพิกัดคร่าวๆ บนแผนที่ กำนันตำบลศรีเทพให้ข้อมูลว่า มีประชาชน 85 ครัวเรือน กับอีก 203 คน ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจนของแนวเขต และตกเป็นผู้มีความเสี่ยงจะสูญเสียที่ดินในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเมืองโบราณศรีเทพได้เป็นมรดกโลกตามที่ไทยเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก
ในจำนวนนี้ แจกแจงได้เป็นประชาชนจำนวน 35 ครัวเรือน ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และถือครองเพียงใบ ภทบ.5 ประชาชนจำนวน 50 ครัวเรือน ที่ถือครอง น.ส.3 ก. และโฉนดที่ดิน
ประชาชนจำนวน 29 คน ที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจำนวนรวมกันกว่า 220 ไร่ และประชาชนจำนวน 174 คน ที่มีที่อยู่อาศัยในเขตทับซ้อน พื้นที่รวมกันกว่า 80 ไร่
ความหวังของหมู่บ้าน คือ ขอความชัดเจนเรื่องแนวเขตที่ดิน ก่อนที่คุณจะดำเนินการเรื่องอื่น เราไม่ได้ขัดขวางเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ สิ่งที่เรียกร้องในขณะนี้ คือ อยากให้ท่าน (กรมศิลปากร) ออกมารังวัดสำรวจแนวเขตที่ดิน
นอกจากนี้ ยังพบว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 เป็นต้นมา อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเมืองนอกเพื่อปลูกพืชระยะสั้นอีกต่อไป เนื่องจากต้องการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
คำสั่งนี้ส่งผลให้ผู้ที่เคยใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองนอกจำนวน 41 คน ไม่สามารถทำการเกษตรได้อีกต่อไป ในจำนวนนี้มี 25 คนที่กลายเป็นผู้ไร้ที่ทำกินทันที เพราะไม่มีที่ดินในพื้นที่อื่นอีก
ภาพ ส่วนหนึ่งของเนื้อหาข้อร้องเรียนให้อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพทบทวนคำสั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปทำเกษตรกรรมในพื้นที่เมืองนอก
ชาวบ้าน 25 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และปกติเข้าไปทำนาในเมืองนอก คนละ 5-10 ไร่ เพื่อนำข้าวมาบริโภคภายในครัวเรือน ซึ่งเป็นวิธีแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง เมื่อกลายเป็นผู้ไร้ที่ทำกินจึงส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักในปัจจุบัน
กำนันตำบลศรีเทพ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอศรีเทพ และอุทยานฯ มีโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้น โดยเปิดรับสมัครให้ชาวบ้านกลุ่มนี้เข้าไปเป็นลูกจ้างของอุทยานฯ ในจำนวน 2-3 อัตรา แต่ภายหลังพบว่า เป็นงานที่ไม่เหมาะสมกับทักษะของผู้ได้รับผลกระทบ เช่น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย คนขับรถ เป็นต้น
คุณยาย อายุ 60-70 ปี ยากที่จะให้เขามาเริ่มต้นอาชีพใหม่ ถึงแม้มีจัดอบรมส่งเสริมอาชีพ แต่ก็ต้องการแผนทางการตลาดมารองรับด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้เวลา ความที่เขาเคยอยู่กับวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมมาก่อน และใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้มาเป็นเวลานาน อยู่ๆ จะให้เขาเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนอาชีพ มันเลยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
แผนบริหารพื้นที่มรดกโลก ซ้ำเติมปัญหาที่ดินในศรีเทพ
กุมภาพันธ์ ปี 2564 รัฐบาลไทยเสนอให้เมืองโบราณศรีเทพ เขาคลังนอก และ เขาถมอรัตน์ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
ในรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลก กำหนดพื้นที่ Core Zone ตามแนวเขตเมืองโบราณศรีเทพที่ประกาศใช้ในปี 2506 ซึ่งเป็นแนวเขตเดียวกันกับที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนในปัจจุบัน
พื้นที่ Core Zone คือพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น ห้ามก่อสร้างอาคารชั่วคราว และถาวร ห้ามทำเกษตรกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และห้ามถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยเด็ดขาด ห้ามปรับพื้นที่และเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ
การกำหนดพื้นที่ Core Zone เช่นนี้ ส่งผลผูกพันต่อประเทศไทยว่า จะต้องบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก มิเช่นนั้น ศรีเทพจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกถอดออกจากทะเบียนมรดกโลก เพราะไม่สามารถบริหารงานได้ตามแผนที่เสนอไว้
ล่าสุด อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมีแผนย้ายสำนักงานและบ้านพักเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ Core Zone หรือตัวอุทยานฯ เนื่องจากเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรที่ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ Core Zone ได้ หากศรีเทพได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
นางสิราวรรณ พันธ์ทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ตำบลศรีเทพ บอกว่า เมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ยิ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ยังไม่ทราบความชัดเจนของแนวเขตที่ดิน เกิดความกังวลและเครียดมากขึ้น เพราะนอกจากที่ดินทับซ้อนกับแนวเขตอุทยานประวัติศรีเทพแล้ว ในอนาคตยังต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่ด้วย เนื่องจากที่ดินทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ Core Zone
มีการพูดกันว่า หากเป็นมรดกโลกแล้ว ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับอุทยานฯ ได้ คำพูดมันดูดี แต่เราอยากได้ความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ที่มีผลทางกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันว่าชาวบ้านสามารถอยู่ในพื้นที่นี้ได้จริง เพราะไม่มีใครต้องการย้ายออกจากพื้นที่ไป คำถามคือ กรมศิลปากรสามารถปรับเปลี่ยนแนวเขตที่ประกาศใช้ในปี 2506 ได้ไหม
แม้ชาวบ้านเรียกหมุดที่ปักไว้ตามแนวถนนเลียบคูน้ำล้อมรอบอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ว่า “หมุดทิพย์” หรือ “หมุดเถื่อน” เพราะไม่ได้ปักตามแนวเขตที่ระบุไว้ตามประกาศในปี 2506
แต่นางสิราวรรณ บอกว่า ในความรู้สึกของพวกเขากลับยอมรับแนวเขตตามหมุดนี้มากกว่า เพราะเป็นแนวเขตที่ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ของอุทยานฯ ตลอดมา จนกระทั่งเกิดปัญหาพิพาทแนวเขตที่ดินขึ้น ถึงทราบว่าแนวปักหมุดของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพไม่ถูกต้อง
ภาพหมุดแนวเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ก่อนหน้านี้ รายการเปิดปม ไทยพีบีเอส เคยนำเสนอ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ว่า การกำหนดพื้นที่ Core zone บริเวณเขาคลังนอกก็มีปัญหาเช่นกัน โดยในเอกสารที่ไทยส่งให้คณะกรรมการมรดกโลก ได้ระบุว่า ขยายพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้นจากขอบเขตเดิมซึ่งขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้เมื่อปี 2506 จากเดิมมีพื้นที่ 2.256 เฮกเตอร์ หรือ 14 ไร่ เป็น กว่า 10 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 63 ไร่ เนื่องจากพบเจดีย์ที่แสดงถึงมณฑลเพิ่มเติมมาด้านละ 3 องค์ รอบๆ เขาคลังนอก
ในเอกสารฉบับเดียวกันยังระบุว่าการขยายขอบเขตแนว Core Zone ได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้านผ่านการทำประชาพิจารณ์และเข้าสู่ขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน อันเป็นไปตามแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ปี 2561-2565
นายสุรพล ขันหล่อ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ต.ศรีเทพ ซึ่งเป็นชุมชนติดกับเขาคลังนอก เคยให้สัมภาษณ์กับรายการเปิดปมของไทยพีบีเอส ว่าไม่เคยมีชาวบ้านคนใดทราบว่าจะมีการเวนคืนที่ดินบริเวณรอบเขาคลังนอกมาก่อน และยังยืนยันว่าไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการขยายแนวเขตโบราณสถานในบริเวณรอบๆ เขาคลังนอกมาก่อนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขาจึงตั้งคำถามว่า เนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารส่งคณะกรรมการมรดกโลกระบุข้อมูลดังกล่าวได้อย่างไร
ภายหลังการประกาศว่าไทยเสนอศรีเทพเป็นมรดกโลก พบว่า ที่ดินในตำบลศรีเทพได้รับความนิยมมากขึ้น มีคนนอกพื้นที่หลายรายเข้ามากว้านซื้อที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องบริเวณรอบๆ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ส่งผลให้ราคาซื้อขายที่ดินในพื้นที่ขยับสูงขึ้น จากเดิมไร่ละ 5 แสนบาท เป็น 7 แสนบาทขึ้นไป
สถานการณ์ซื้อขายที่ดินเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่สำหรับคนในพื้นที่ที่ยังไม่มีความมั่นคงในที่ดินจากปัญหาแนวเขตทับซ้อนและอยู่ในพื้นที่ Core Zone ตามแผนการบริหารพื้นที่อนุรักษ์เมืองโบราณศรีเทพ พวกเขารู้สึกว่าสุดท้ายแล้ว
คนท้องถิ่นอาจจะกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในบ้านตัวเองหรือไม่ เพราะถูกเวนคืนที่ดินทำกินไปอย่างสิ้นเชิง โดยได้เงินชดเชยแค่หยิบมือ ส่วนผู้ที่ถือครองใบ ภทบ.5 ย่อมไม่ได้ค่าชดเชยใดๆ เพราะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตั้งแต่แรก
กำนันตำบลศรีเทพระบุว่า คำถามของคนในพื้นที่ขณะนี้ คือ ในอนาคตศรีเทพจะกลายเป็นพื้นที่ของนายทุนที่เข้ามาทำธุรกิจรีสอร์ทและโรงแรมเท่านั้นหรือไม่ โดยมีคนท้องถิ่นเป็นเพียงลูกจ้างที่ต้องนำเงินค่าจ้างไปจ่ายค่าบ้านเช่าอีกต่อหนึ่ง เนื่องจาก ไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัยเสียแล้ว
นายทุนหรือผู้ที่มีกำลังที่สามารถซื้อที่ดินที่ถูกต้อง มีโฉนด มีนส. 3 ก. ถูกต้อง คนนอกจะสามารถเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของเรา แต่คนในพื้นที่จะไปอยู่ตรงไหน
รัฐบาลเดินหน้าเสนอศรีเทพเป็นมรดกโลก
ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2564 ยังมีข้อหารืออื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาพิพาทที่ดินศรีเทพ ทางชุมชนเสนอให้ชะลอการเสนอพื้นที่ศรีเทพเป็นมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 45 ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ประเทศรัสเซีย
เนื่องจากยังมีปัญหาความไม่ชัดเจนของแนวเขตที่ดิน อันจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยมติที่ประชุมระบุเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ ดังเอกสารต่อไปนี้
ปัจจุบันไทยกลับไม่ชะลอการนำเสนอศรีเทพเป็นมรดกโลก ตามมติการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2564 รวมถึงไม่แก้ไข รายงานที่ส่งคณะกรรมการมรดกโลกไปแล้วเช่นกัน แม้จะทราบว่า ทำให้เกิดปัญหาเรื่องที่ดิน ในตำบลศรีเทพในอนาคต
โดยที่ผ่านมาตัวแทนจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศสากล หรือ ICOMOS สากลได้เดินทางมาดูพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพเมื่อเดือนกันยายน 2565
ภาพ กลางเดือน ก.ย. 2565 วันที่ผู้แทน ICOMOS พบปะชาวบ้านศรีเทพ โดยมีชาวบ้านนั่งอยู่กับพื้น
นายพนมบุตร จันทรโชติ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2565 ให้ข้อมูลว่า วันที่ 26 พ.ย.2565 จะมีการหารือระหว่างสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศของไทย หรือ ICOMOS ไทย กับ ICOMOS สากล
เพื่อพิจารณาว่า รายงานที่เตรียมนำเสนอต้องปรับปรุงแก้ไข หรือเพิ่มเติมเนื้อหาใดๆ หรือไม่
จากนั้นจึงนำเข้าสู่การพิจารณาของ ICOMOS สากลในเดือนธันวาคมนี้ โดยไทยต้องส่งเอกสารเพิ่มเติม ตามที่ ICOMOS ร้องขอ ภายในกุมภาพันธ์ 2566 และเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศรัสเซียในเดือนมิถุนายน 2566
มีความเป็นไปได้ว่า หนึ่ง (ศรีเทพ) อาจได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน หรือ สอง อาจไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนก็ได้ หรือ สาม ให้ (ไทย) ส่งหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติม มันก็ยังเป็นเรื่องที่ยังตอบไม่ได้ในตอนนี้ แต่ก็หวังว่าจะเป็นข่าวดี
“ขอโทษ” และ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
อธิบดีกรมศิลปากร มีความเห็นต่อกรณีปัญหาแนวที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่ทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้านว่า อาจเกิดจากปัญหาการสื่อสารระหว่างกรมฯ กับชาวบ้านที่ไม่ชัดเจนและไม่มากพอ ต่อไปจะสื่อสารให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
ผมย้อนกลับวันเวลาไปแก้ไขเรื่องเดิมไม่ได้ แต่ ณ วันนี้พอรับทราบปัญหา และเมื่อมานั่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากรเต็มตัว ผมพูดได้ว่า เรื่องเมืองโบราณศรีเทพจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่หยิบมาทำ ปลายอุโมงค์อยู่ทางไหนไม่รู้ แต่ว่าต้นทางหรือหมุดหมายมีอยู่แล้ว คือไม่เวนคืน
ถ้าตกลงกันได้ก็จะตั้งงบขึ้นมาชดเชยค่าที่ดินให้ ต้องขอโทษที่มันนาน แต่เรื่องนี้จะพิจารณาให้เร็วก็ไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าจะให้มันยุติอย่างเป็นธรรม
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า โดยหลักการแล้ว หน้าที่ของกรมศิลปากรคือ ดูแลให้ชุมชนกับโบราณสถานอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและมีความสุข นี่เป็นหลักการสำคัญสูงสุด ไม่มีประโยชน์หากประกาศเป็นมรดกโลกแล้วทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นไม่มีการเวนคืนที่ดินอย่างแน่นอน
แต่ถ้าจำเป็นต้องทำจริงๆ ก็จะกันพื้นที่ในส่วนที่จำเป็นต้องกันพื้นที่ไว้จริงๆ หากแม้ว่ามันทับซ้อนกับพื้นที่ชาวบ้าน ทางออกของเราก็คือ “เงินชดเชย” หรือตั้งงบประมาณมาชดเชยให้กับชาวบ้าน
ขณะนี้ ทางอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้แล้ว แต่ คงไม่ใช่เรื่องที่ทำเสร็จได้ภายใน 1-2 วัน เพราะการชดเชยค่าที่ดินต้องผ่านขั้นตอนการประเมินค่าชดเชยจากทางราชการ ซึ่งไม่ใช่ราคาประเมินตามการซื้อขายในปัจจุบัน โดยทางอุทยานประวัติศรีเทพมีแผนตั้งบประมาณสำหรับค่าชดเชยในปีงบประมาณ 2567
การชดเชยต้องเป็นธรรม ยุติธรรม ยุติด้วยความเป็นธรรม ระหว่างผู้ถือครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินกับราชการ แน่นอนว่าธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง ต่อให้เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น เพราะเราชอบที่จะอยู่แบบเดิมๆ ทำมาหากินในพื้นที่เดิม
ผมอยากจะบอกว่าการได้เป็นมรดกโลก มันจะช่วยทั้งศักดิ์และศรีของประเทศไทย และช่วยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ดูตัวอย่างได้จากสุโขทัยและพระนครศรีอยุธยา
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน