“ชเวโก๊กโก่” เมืองอาชญากรรมข้ามชาติ?
บรรยากาศเมืองชเวโก๊กโก่ เมียวดี ประเทศเมียนมา
หากเรายืนอยู่ริมแม่น้ำเมย บริเวณ อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก แล้วมองออกไปจากฝั่งไทย จะเห็นกาสิโนคอมเพล็กซ์ สถานบันเทิง ศูนย์การค้า โรงแรม ร้านอาหาร พร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เรียงรายตลอดแนวแม่น้ำเมย ที่นั่นคือ “ชเวโก๊กโก่ (Shwe Kokko)” เมืองใหม่ครบวงจรส่วนหนึ่งของจังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ที่เกิดขึ้นภายใต้การร่วมทุนระหว่างบริษัท ยาไท่ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป (Yatai International Holdings Group ) กับบริษัท Chit Lin Myaing ซึ่งมีกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง หรือ Kayin BGF ของนายพลชิต ตู เป็นเจ้าของ
บรรยากาศเมืองชเวโก๊กโก่ เมียวดี ประเทศเมียนมา
ข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงไทยระบุว่า ที่นั่นมีกาสิโนอย่างน้อย 17 แห่ง ภายใต้กลุ่มทุนหลากหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน มาเก๊า ฮ่องกง มาเลเซีย หรือ ไต้หวัน ฯลฯ ส่วนอาคารพาณิชย์จำนวนมากถูกเช่าโดยธุรกิจพนันออนไลน์และสแกมเมอร์ แต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน
สภาวะที่กลุ่มทุนร่วมมือกับกองทำลังท้องถิ่นเช่นนี้ ทำให้นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม หรือ UNODC มองว่า เมียวดีเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบสำหรับกลุ่มอาชญากร
พวกเขาร่วมจัดตั้งบริษัทกับกองกำลังพิทักษ์ชายแดนในท้องถิ่น ตั้งศูนย์ต่างๆ เปิดกาสิโน เปิดศูนย์สแกมเมอร์ จากนั้นก็ขยายเป้าหมายไปยังส่วนอื่นๆ ของภูมิภาค และนำพาแรงงานเข้ามาเพื่อทำงานให้ เมียวดีจึงมีปัจจัยที่สมบูรณ์แบบสำหรับอาชญากร
ขณะนี้ นานาชาติกำลังกังวลว่า “ชเวโก๊กโก่” อาจเป็นฐานปฏิบัติการอาชญากรรมข้ามชาติที่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศอื่นๆ ผ่านธุรกิจพนันออนไลน์ และสแกมเมอร์ออนไลน์ (Online scammer)
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายเฉอ จื้อเจียง (She Zhejiang) ถูกตำรวจไทยควบคุมตัวตามหมายจับของประเทศจีน และหมายแดงของตำรวจสากล เนื่องจากเขาหลอกประชาชนในประเทศจีน ไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ผ่านการเล่นพนันออนไลน์ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่าห้าพันล้านบาท ขณะถูกจับกุมนายเฉอมีสัญชาติกัมพูชาและถือหนังสือเดินทางกัมพูชา
นายเฉอ เจ้อเจียง ผู้บริหารเมืองใหม่ครบวงจรชเวโก๊กโก่
ในตอนแรก หลายฝ่ายมองว่าการจับกุมนายเฉอจะทำให้โครงการพัฒนาเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่ชะงักลง แต่รายงานล่าสุดของสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USIP หน่วยงานวิชาการอิสระที่ก่อตั้งโดยรัฐสภาของสหรัฐฯ ระบุ การพัฒนาโครงการยังเดินหน้าต่อ เพราะหุ้นส่วนชาวจีนอีกสองคน ได้แก่ นายหม่า ตงหลี่ (Ma Dongli) และ นายซ่ง เป้าเจี๋ย (Zhong Baojia) ยังคงมีอำนาจควบคุมงานบริหารต่างๆ พร้อมกับดึงดูดนักลงทุนจากทั่วภูมิภาคมายังที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจกาสิโน พนันออนไลน์ หรือสแกมเมอร์
บรรยากาศเมืองชเวโก๊กโก่ เมียวดี ประเทศเมียนมา
ศูนย์กลางแก๊งสแกมเมอร์?
ที่ผ่านมาพบว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยจับกุมชาวต่างชาติหลากหลายสัญชาติที่หนีออกมาจากเมืองเมียวดี และลักลอบเข้าไทยได้ตามแนวชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก จากการขยายผลพบว่า ส่วนมากถูกบังคับให้ล่อลวงคนจากประเทศต่างๆ มาลงทุนในสกุลเงินคริปโต หากทำเงินไม่ได้ตามเป้า ก็จะถูกนายจ้างทำร้ายร่างกาย
ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม 2565 มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและฝ่ายความมั่นคงใน อ.แม่สอด จับกุมชาวอินเดียที่หลบหนีออกจากเมียวดีเข้ามายังฝั่งไทยได้อย่างน้อยจำนวน 14 คน นอกจากนี้ ยังมีชาวเอธิโอเปีย เคนย่า ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และไทย ที่หลบหนีออกมาในลักษณะเดียวกัน
ภาพชาวอินเดียที่ถูกจับกุมที่ อ.แม่สอด จ.ตาก
รัฐบาลของหลายประเทศในทวีปแอฟริกา รวมถึงอินเดีย มาเลเซีย จีน ใต้หวัน และฮ่องกง ต่างออกประกาศเตือนประชาชนไม่ให้หลงเชื่อนายหน้าที่ประกาศหาคนไปทำงานในเมียวดี เพราะอาจตกเป็นเหยื่อ พร้อมกันนี้ แต่ละประเทศก็พยายามช่วยเหลือคนของตนเองออกมา
ประกาศเตือนประชาชนของประเทศอินโดนีเซีย
ประกาศเตือนประชาชนประเทศอินเดีย
อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาพร้อมกับเมืองใหม่เชวโก๊กโก่ คือ การเปลี่ยนถ่ายแรงงานชาวจีนที่อยู่ในอุตสาหกรรมพนันและสแกมเมอร์ระหว่างกาสิโนรอบชายแดนไทยแต่ละแห่ง โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน
The EXIT ไทยพีบีเอสพบว่า ผู้ลักลอบเข้า-ออกราชอาณาจักรสัญชาติจีนบางส่วน ถูกจับกุมระหว่างเดินทางจากเมียวดี เพื่อไปทำงานที่เขตเศรษฐกิจพิเศษคิงส์โรมันส์ ประเทศลาว รวมถึงชาวจีนจากคิงส์โรมันส์ ก็ลักลอบเข้าไทยเพื่อไปทำงานที่ชเวโก๊กโก่
ภาพบาดแผลที่ชายชาวจีนถูกนายหน้าทำร้ายระหว่างทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ที่กัมพูชา
นอกจากนี้ ยังพบการค้ามนุษย์ในกลุ่มสแกมเมอร์ชาวจีนจากสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ไปยังเมืองเมียวดี ด้วยเช่นกัน เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 ชาวจีน 5 คน ถูกตำรวจท่องเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชรจับกุมขณะหลบหนีจากนายหน้าระหว่างการเดินทางไป อ.แม่สอด ทั้งหมดให้การว่าถูกหลอกมาทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กัมพูชา และกำลังถูกขายต่อให้ไปอยู่เมียวดี และยังแสดงบาดแผลที่ถูกนายจ้างทำร้ายให้ตำรวจดู
ผู้แทน UNODC เห็นว่า เรื่องนี้ต้องการการตอบสนองในระดับภูมิภาค เพราะพบผู้คนถูกนำไปค้ามนุษย์ที่เมียวดี ทั้งจากแอฟริกา มาเลเซีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย ฯลฯ ทั้งหมดถูกบังคับให้ทำงานหลอกลวง งานพนันออนไลน์ต่างๆ ทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มสนใจช่วยเหลือคนของตนเองออกมา และเป็นปัญหาระดับนานาชาติอย่างแท้จริง ณ จุดนี้
การหมุนเวียนแรงงานพนันออนไลน์และสแกมเมอร์รอบชายแดนไทย
ตม.เชียงแสนเตือนคนไทยที่ไปทำงานในคิงส์โรมันส์
ป้ายเตือนภัยระวังถูกหลอกไปทำงานผิดกฎหมายในต่างแดนและระวังตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ถูกติดไว้ทุกหนแห่งในด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงแสน (บ้านสบรวก) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ผู้เดินทางจะพบป้ายเตือนภัยเหล่านี้เป็นระยะๆ ยาวไปจนถึงท่าเรือที่ข้ามฝั่งไปยังสถานบันเทิงครบวงจรและกาสิโนขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ “คิงส์โรมันส์” แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว
เขตเศรษฐกิจพิเศษคิงส์โรมันส์ ประเทศลาว
พ.ต.อ.มณุวัฒน์ กอสนาน ผกก.ด่าน ตม.เชียงแสน ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นมา มีคนไทยจำนวน 106 คนที่ถูกช่วยเหลือออกมาจาก “คิงส์โรมันส์” หลังจากถูกชักชวนให้ไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในจำนวนนี้ มีเพียง 4 คนที่เข้าข่ายเป็นเหยื่อค้าขบวนการค้ามนุษย์ จากการคัดกรองของสหวิชาชีพ
นอกจากป้ายตักเตือนจำนวนมากแล้ว เจ้าหน้าที่ประจำด่านยังนำใบปลิวที่มีข้อความเตือนภัยและช่องทางติดต่อฉุกเฉินแนบไปกับหนังสือเดินทางของผู้เดินทางคนไทยและคนลาว เพื่อเตือนผู้ที่กำลังเดินทางไปทำงานและให้ข้อมูลถึงช่องทางขอช่วยเหลือข้ามแดน
ปี 2561 กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำ “คิงส์โรมันส์ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสต์เมนต์” ซึ่งจดทะเบียนในฮ่องกง โดยกล่าวหาว่าเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จากคำสั่งดังกล่าวทำให้นายจ้าวเหว่ยกับภรรยา รวมถึงผู้บริหารชาวออสเตรเลียและชาวไทย รวมกัน 4 คน ถูกขึ้นบัญชีดำธุรกรรมทางการเงิน โดยในคำแถลงส่วนหนึ่งของกระทรวงการคลัง สหรัฐระบุว่า
เครือข่ายอาชญากรรมของนายจ้าว เหว่ย เกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมายที่น่าสะพรึง ไม่ว่าจะเป็น การค้ามนุษย์ การค้าประเวณีเด็ก การค้ายาเสพติด หรือการค้าสัตว์ป่า เรากำลังเล็งเป้าหมายไปยังบุคคลสำคัญขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งกำลังแผ่ขยายอิทธิพลจากกาสิโนในประเทศลาวไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายหลังในวันที่ 18 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ตัวแทนเขตเศรษฐกิจพิเศษคิงส์โรมันส์ส่งคลิปภาพพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมกับชี้แจงว่า นายเจ้า เหว่ย ผู้ได้สัมปทานเขตเศรษฐกิจพิเศษคิงส์โรมันส์ ไม่เคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาวุธสงคราม และซ่องโจร อีกทั้งไม่ได้อยู่เบื้องหลังการหลอกเงินคนไทยผ่านทางแก๊งคอลเซ็นเตอร์
สำหรับกิจการกาสิโนคิงส์โรมันส์ในปัจจุบัน อยู่ภายใต้การบริหารของนายทุนจากสิงคโปร์ชื่อว่า ALLUXI CASINO ส่วนนายจ้าว เหว่ยหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยให้เอกชนและกลุ่มทุนต่างๆ เช่าพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ “คิงส์โรมันส์” พื้นที่ 102 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเขาได้สัมปทานเป็นระยะเวลา 99 ปีจากรัฐบาลลาว
ชายแดนภาคเหนือ พบคนจีนอย่างน้อย 711 คน ลักลอบเข้า-ออกไทย
เช้ามืดวันที่ 30 ก.ย. 2565 หน่วยงานความมั่นคงออกตรวจตราตามแนวชายแดนไทย-ลาว พบรถยนต์กระบะคันหนึ่งพร้อมผู้โดยสารชาวจีน 3 คน ทั้งหมดให้ข้อมูลว่าเคยเป็นพนักงานเว็บพนันออนไลน์ใน “คิงส์โรมันส์” กำลังเดินทางไปทำงานต่อที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา โดยนายหน้าว่าจ้างคนไทยให้ช่วยพาลักลอบเดินทางเข้าไทย แลกกับค่าตอบแทนหัวละ 3,000 บาท
ภาพคนจีนที่ลักลอบเข้าเมือง
คนขับรถชาวไทยถูกตั้งข้อหา ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือประการใดๆ ให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่ชาวจีนทั้ง 3 คน ถูกตั้งข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ไม่ใช่แค่ลักลอบเข้าประเทศไทยเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ตรวจจับได้ ในวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ด่าน ตม.เชียงแสน ยังสังเกตเห็นความผิดปกติในหนังสือเดินทางของชายชาวจีนวัย 44 ปี ที่กำลังเดินทางออกจากประเทศไทย เพื่อไปทำงานที่ “คิงส์โรมันส์” โดยพบว่าประทับตราอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยระบุหมายเลขตรวจลงตราที่ไม่ตรงกับฐานข้อมูลใดๆ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ต่อมาเจ้าตัวสารภาพว่า เขาจ้างให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งปลอมแปลงตราประทับขึ้น เพื่อแอบพำนักอยู่ในประเทศไทยเกินจากระยะเวลาที่วีซ่าอนุญาต
ภาพคนจีนที่ปลอมแปลงตรวจลงตรา
ชายชาวจีนคนดังกล่าว จึงถูก ตม.เชียงแสนตั้งข้อหา ใช้ดวงตรา รอยตรา หรือแผ่นประตรวจลงตราที่ทำปลอมขึ้น และเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
การจับกุมชาวจีนที่ลักลอบเข้าออกประเทศไทยตามแนวชายแดนไทย-ลาว เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รูปแบบพฤติกรรมการลักลอบที่พบเป็นประจำ คือ มีนายหน้าทั้งคนจีนและคนลาวติดต่อกับเครือข่ายคนไทยในพื้นที่ ว่าจะมีกลุ่มคนลักลอบเข้าไทย จากนั้นจ้างเรือหาปลาหรือเรือรับจ้างทั่วไปจากฝั่งลาว ให้นำพากลุ่มคนดังกล่าวเข้ามายังฝั่งไทย โดยลักลอบจอดเรือตามช่องทางธรรมชาติ หรือท่าน้ำชาวบ้านชาวสวน ก่อนจะขึ้นรถยนต์เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้
สถิติการจับกุมชาวจีนที่ลักลอบเข้า-ออกไทย โดย ตม.เชียงแสนเพียงแห่งเดียว ตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2565 มีจำนวนอย่างน้อย 130 คน โดยปี 2563 เป็นปีที่จับกุมได้มากที่สุดถึง 53 คน
ข้อมูลจากกองโฆษกกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 (บก.ตม. 5) ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคเหนือเกือบทั้งหมด ระบุว่า ชาวจีนส่วนใหญ่ที่จับกุมได้บริเวณชายแดนเชียงแสน-เชียงของ เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในประเทศลาว บางคนต้องการเดินทางมาต่อวีซ่าในประเทศไทย แต่ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ เนื่องจากนโยบายปิดชายแดนเพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 พวกเขาจึงเลือกที่จะลักลอบข้ามแดน จนถูกจับกุมในที่สุด
เมื่อเจ้าหน้าที่ ตม. สอบสวนเพื่อขยายผล พบว่า บางส่วน คือ การโยกย้ายแรงงานชาวจีนที่ถูกเลิกจ้างจากกาสิโนในลาว และต้องการย้ายฐานทำงานไปยังกาสิโนอื่นๆ ในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา หรือบางคนก็ต้องการไปเยี่ยมญาติชาวจีนที่อยู่ในเมืองเมียวดี โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน นอกจากนี้ยังพบว่ามีชาวจีนลักลอบเข้า-ออกประเทศไทยตามแนวชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งอยู่ตรงข้ามเมืองเมียวดีด้วยเช่นกัน สาเหตุจากความต้องการเดินทางไปทำงานที่กาสิโนประเทศลาว หลังจากถูกนายจ้างในเมียวดีเลิกจ้าง
จำนวนคนสัญชาติจีนที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายในความรับผิดชอบของ บก.ตม. 5 ตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2565 มีจำนวน 711 คน อยู่เกินกำหนดอนุญาตหรือ Overstay 130 คน
แม้ บก.ตม. 5 ปฏิเสธว่าชาวจีนที่มีคดีอยู่ในความรับผิดชอบไม่เคยได้รับการประกันตัว แต่ข้อมูลจากศาลจังหวัดเทิง ในเชียงราย ระบุว่า มีชาวจีนจำนวน 16 คนที่ถูกตั้งข้อหาลักลอบเข้าไทยได้รับการประกันตัว และหลบหนีการนัดหมายของศาลในเวลาต่อมา จนถึงขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าทั้ง 16 คน อยู่ที่ใด
แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนามให้ข้อมูลกับ the EXIT ไทยพีบีเอสว่า หากตรวจสอบคดีย้อนหลัง อาจพบผู้ต้องหาชาวจีนที่ได้ประกันตัวมากกว่า 16 คน โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ได้รับประกันตัวอาจเป็นโปรแกรมเมอร์เว็บพนันออนไลน์ซึ่งมีค่าตัวหลักล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นคนสำคัญในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถึงได้มีขั้นตอนการช่วยเหลืออย่างเป็นขบวนการ และอาจเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ไทยในหน่วยงานต่างๆ หลายระดับ
ชาวจีนที่ลักลอบเข้า-ออกไทยหลายคนไม่มีหนังสือเดินทาง
The EXIT ไทยพีบีเอส พบว่า ชาวจีนบางส่วนที่ถูกตั้งข้อหาลักลอบเข้า-ออกไทย ไม่มีหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตติดตัว ผกก.ตม.เชียงแสนให้ข้อมูลว่า สาเหตุอาจเป็นเพราะบางคนลักลอบเดินทางออกจากประเทศจีนเพื่อมาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ “คิงส์โรมันส์” ตั้งแต่แรก พวกเขาจึงไม่มีหนังสือเดินทาง หรือเป็นไปได้ว่าหนังสือเดินทางถูกผู้ว่าจ้างยึดไว้เป็นหลักประกัน เพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี ขณะที่ โฆษก บก.ตม. 5 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เพราะพวกเขาต้องการปกปิดชื่อ-สกุล รายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกขึ้นบัญชีดำ หรือเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เข้าในราชอาณาจักรในระบบสารสนเทศตรวจคนเข้าเมือง
ไทยกำลังเสี่ยงกับภัยอาชญากรรมข้ามชาติที่ซับซ้อนมากขึ้น
นายเจเรมี ผู้แทน UNODC กล่าวว่า กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้มีปฏิบัติการที่ซับซ้อนมาก บางครั้งเมื่อรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งกดดัน พวกเขาก็ย้ายฐานปฏิบัติการ เราจึงเห็นกลุ่มอาชญากรบางกลุ่มในกัมพูชาย้ายฐานการทำงานและคนงานไปยังเมียวดี เมียนมา หรือไปยังเขตเศรษฐกิจต่างๆ และประเทศลาว ลักษณะการถ่ายโอนผู้คนและธุรกิจต่างๆ ระหว่างกันเช่นนี้ ที่เกิดขึ้นระหว่างเขตอำนาจศาลของภูมิภาคที่แตกต่างกัน กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก
ไทยเผชิญความเสี่ยงอย่างมากจากสิ่งนี้ เริ่มต้นจาก กาสิโน การพนันออนไลน์ผิดกฎหมาย และสแกมเมอร์ แต่ก็มีธุรกิจอื่นๆ ที่ผิดกฎหมายที่นั้นเช่นกัน พวกเขาเริ่มผลิตสื่อทางเพศที่ผิดกฎหมาย หรือนำผู้หญิงไปค้าประเวณี มีอาชญากรรมมากมายกำลังเกิดขึ้นที่นั่น สิ่งเหล่านี้เป็นแหล่งฟอกเงินจากการค้ายาเสพติดด้วย ดังนั้น เราต้องสนใจอย่างจริงจังกับข้อเท็จจริงว่า อาชญากรรมเหล่านี้จะเติบโต หากประเทศไทยไม่ระวัง
ผู้แทน UNODC ยังเห็นว่าปัญหาที่น่ากังวลที่สุดคือการฟอกเงินจากการค้ายาเสพติดผ่านธุรกิจกาสิโนรอบๆ ชายแดน โดยประเมินว่ากลุ่มอาชญากรทำเงินจากการค้ายาเสพติดได้มากกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยได้ประมาณ 35,000 ล้านบาท ถ้าหากไทยกดดันประเทศเพื่อนบ้านไม่มากพอ ก็จะกลายเป็นภัยความมั่นคงรอบชายแดนในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน