วันนี้ (13 ธ.ค.2565) ภาคเอกชนแสดงความกังวลต่อการปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดใหม่ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่จะปรับขึ้นมากกว่า 5 บาทต่อหน่วย เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น เช่น โรงหล่อ ซีเมนต์ เยื่อกระดาษ แก้วและเซรามิก รวมถึงสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ อาจต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-12 โดยคำนวณจากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เคยปรับขึ้นก่อนหน้านี้
สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น เอกชนเห็นว่าเพราะรัฐบริหารผิดพลาด ตั้งแต่การส่งมอบแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณที่ล่าช้าและใช้เวลานาน จนปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยหายไปและไม่เพียงพอ จนต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาตลาด Spot และเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต
ขณะที่การส่งเสริมใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศยังไม่มากพอ และเพิ่มปริมาณโรงไฟฟ้ามากกว่าความต้องการ ส่งผลต่อปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็น กระทบต่อภาระค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสูง 2 งวดติดต่อกัน
ดังนั้น เอกชนต้องการเสนอให้รัฐชะลอขึ้นค่าไฟงวดแรกของปี 2566 ออกไปก่อน ปลดล็อกการขอใบ รง.4 เพื่อให้ติดตั้งโซลาร์ในโรงงานอุตสาหกรรมเร็วขึ้น และเรียกร้องขอให้ กกพ. เป็นตัวกลางหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ เสนอรัฐบาลเร่งตั้งทีมเจรจากับกัมพูชา เพื่อนำพลังงานจากพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า การตรึงค่าไฟภาคอุตสาหกรรมไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย เป็นเรื่องยาก แต่จะปรับขึ้นเท่าไหรที่จะเหมาะสมเพื่อให้กระทบต่อเอกชนน้อยที่สุด ขึ้นอยู่กับการคำนวณราคาก๊าซฯ ของ บมจ.ปตท. คาดจะได้ข้อสรุปสัปดาห์นี้
ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ยื่นหนังสือเสนอข้อร้องเรียนถึงรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน รวมถึงคณะกรรมกำกับกิจการพลังงานไปแล้ว เพื่อให้แก้ไขต้นทุนพลังงาน แต่ยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว