ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดยุทธศาสตร์จีนในอนาคต กับการเป็นชาติมหาอำนาจด้านอวกาศ

Logo Thai PBS
เปิดยุทธศาสตร์จีนในอนาคต กับการเป็นชาติมหาอำนาจด้านอวกาศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับโครงการอวกาศจีนหลายโครงการ ป่าวประกาศยุทธศาสตร์อวกาศของจีนในอนาคต ว่าจะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศภายในปี 2045

ประเทศจีนนั้นถือเป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 ประเทศบนโลกในปัจจุบันที่สามารถพานักบินอวกาศของตนเดินทางออกไปนอกโลกได้ด้วยเทคโนโลยีของตนเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากชาติใด ๆ ซึ่งจีนก็ได้มีความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอยู่เรื่อยมา จนสามารถก่อสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ล่าสุดที่มีชื่อว่า "เทียนกง" (Tiangong) ได้สำเร็จ

แต่ถึงกระนั้นความทะเยอทะยานทางด้านอวกาศของจีนก็ไม่ได้หยุดลงแต่เพียงเท่านี้ เนื่องจากล่าสุด วู เหยียนเฉิง (Wu Yansheng) ผู้อำนวยการของบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (China Aerospace Science and Technology Corporation) หรือที่รู้จักกันในตัวอักษรย่อว่า CASC ได้ออกมาป่าวประกาศในช่องโทรทัศน์กลางของจีน (CCTV) ว่า จะทำให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศภายในปี 2045 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา

โดยหนึ่งในโครงการที่น่าสนใจที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นโครงการที่จะนำพามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ช่วงทศวรรษที่ 2030 ประกอบกับส่งหุ่นยนต์สำรวจในการสำรวจดวงจันทร์เพิ่มเติมตามขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ฉางเอ๋อ 6 ที่จะไปเก็บตัวอย่างหินบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ไปจนถึงฉางเอ๋อ 7 และ 8 ที่จะเน้นไปที่การทำแผนที่ดวงจันทร์เพื่อค้นหาทรัพยากรที่จำเป็นต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์ อย่างเช่น น้ำแข็ง เป็นต้น

อีกทั้งทาง CASC ยังได้กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบนำส่งสัมภาระไปยังอวกาศให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นในขณะที่มีราคาค่าใช้จ่ายต่ำลง ซึ่งสอดคล้องการแผนการพัฒนาจรวดลองมาร์ช 9 (Long March 9) ที่วิศวกรตั้งใจให้ตัวจรวดสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ทุกส่วน ผ่านระบบลงจอดแนวดิ่ง ในลักษณะที่คล้ายกับจรวดของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX)

และเมื่อจีนสามารถพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคด้านอวกาศพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปสู่การก่อสร้างการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (International Lunar Research Station) อย่างเต็มรูป ซึ่งเกิดขึ้นมาจากความร่วมมือและระหว่างรัสเซียและจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 เพื่อแข่งขันกับโครงการอาร์ทิมิส ซึ่งเป็นโครงการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ของสหรัฐฯ เช่นกัน

ล่าสุดทางการจีนยังได้ออกมาเปิดเผยอีกด้วยว่า ทางรัฐบาลต้องการที่จะทำให้พื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลระหว่างแรงโน้มถ่วงของโลกและดวงจันทร์ (Cislunar Space) กลายเป็นเขตเศรษฐกิจอวกาศด้วยแผนการพัฒนาพร้อมกับเงินลงทุนที่สูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ CASC ก็ยังได้กล่าวถึงโครงการที่อยู่เลยพรมแดนของดวงจันทร์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการนำตัวอย่างหินดาวอังคารส่งกลับมายังโลก หรือไม่ก็การสร้างยานอวกาศเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะชั้นนอกทุกดวง ซึ่งมีกำหนดการปล่อยตัวภายในปี ค.ศ. 2024 ที่กำลังจะถึงนี้

ก่อนที่จะมีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องกฎหมาย สนธิสัญญาต่าง ๆ ในแง่ของความจำเป็นในการจัดตั้งหน่วยงานควบคุมการใช้ทรัพยากร การดูแลสภาพแวดล้อมในอวกาศ และการขจัดปัญหาขยะอวกาศ เป็นต้น

เรียกว่าประเทศจีนได้เตรียมตัวที่จะเป็นชาติมหาอำนาจทางด้านอวกาศอย่างเห็นได้ชัด ในยุคที่อวกาศเข้าถึงทุกคนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการแข่งขันทางด้านอวกาศยุคใหม่นี้ก็อาจจะทำให้เทคโนโลยีของเราพัฒนาอย่างก้าวกระโดดขึ้นมาอีกครั้ง

 

ที่มาข้อมูล: SpaceNews
ที่มาภาพ: CNSA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง