ไม่ว่ารัฐบาลนี้ จะอยู่ครบเทอม หรือท้ายที่สุดแล้ว นายกฯจะตัดสินใจยุบสภาด้วยเหตุผลใด การเมืองไทยในปี 2566 ก็คือปีของการจัดการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งนักวิชาการ นักการเมือง หรือแม้แต่นักเลือกตั้งเอง ต่างชี้ว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น มีวัฏจักรของ "ธนกิจการเมือง" ซึ่งหมายถึงการแข่งขันเลือกตั้งที่เกี่ยวข้อง-เชื่อมโยงกัน ระหว่างเงินสู่อำนาจและอำนาจสู่เงิน
ถอดรหัสการเมืองแล้วเป็นไปได้ว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย จะเปิดหน้าเป็นพรรคคู่แข่ง-คู่ชิงกันในสนามเลือกตั้ง ผ่านฉากหลังที่ยึดโยงอยู่กับ "2 ป." คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และใครจะเป็นผู้นำคนต่อไป แม้จะขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นเหตุคาดการณ์ว่า ไม่ได้เปลี่ยนมือไปจากขั้วอำนาจเดิม
ตามปกติวิสัย คำพูดย่อมแสดงตัวตน แต่สำหรับนักการเมือง บางครั้งก็จริง-บางครั้งก็ลวง หากแต่ชี้ว่า นี่คือยุทธศาสตร์การเมือง
ไม่เฉพาะปี 2565 แต่ทั้งเทอมรัฐบาลนี้ รับภาระแก้ปัญหา "โควิด-19" แล้วถาโถมด้วยภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่เสถียรภาพ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ดังนั้นจะอยู่ครบเทอมหรือยุบสภา ปี 2566 ก็ต้องมีการเลือกตั้ง มองผิวเผิน-คล้ายจะถึงจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่คาดการณ์แล้ว อาจเพียงแค่ปรับโฉม
ฝ่ายท้าชิง "แพทองธาร ชินวัตร" ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมฯ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของขั้วอำนาจเก่า ที่ขับเคลื่อนผ่านพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางกระแสมีข้อตกลงทางการเมืองอยู่กับ ป.ประวิตร และเกือบปีแล้ว
แม้จะเปิดฉากโหมโรงเลือกตั้ง สวมบทบาทหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็น "แม่เหล็ก" ดูดนักเลือกตั้ง ดึงมวลชนฐานเสียง กลับเข้าบ้าน แต่จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ชัด ที่จะเปิดหน้าท้าชิงเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30
อีกฝ่ายที่ดูจะเดินเกมรุกอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แต่ก็ยังเล่นบท "หนูกับราชสีห์" ผ่านคำถามถึงความเป็นไปได้ ที่จะท้าชิงเก้าอี้นายกฯ จากอดีตผู้บังคับบัญชา หรือนาย ผู้ที่ให้ความเคารพ อย่าง ป.ประยุทธ์ ทั้งที่ท่าทีแข็งขัน-สู้ศึกเลือกตั้ง ขยายฐานทางการเมือง ตั้งธงชนะ "ยกจังหวัด" ด้อยค่าเป้าหมายฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ยังไม่ชัดอยู่ดี ว่าขอพร้อมด้วยตัวเอง-โดยไม่ต้องให้ใครมาตั้ง คือการท้าชิงเก้าอี้นายกฯ ครั้งนี้
ปี่กลองการเมืองดังขึ้น "พลังดูด" ก็เกิดขึ้น ดูดมากสุดเป็นประวัติการณ์ ยกให้พรรคภูมิใจไทย จากพรรคขนาดกลาง สยายปีกกลายเป็นพรรคใหญ่ และแม้จะสูญเสียไปบ้างกับการแตกแบงค์และถูกเขย่า แต่พรรคเพื่อไทย ยังคงรักษา ความเป็นพรรคใหญ่ไว้ได้
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ จากที่ล้มลุกคลุกคลาน ปักธงชัดที่ ป.ประวิตร เป็นผู้นำทัพ ขณะที่ ป.ประยุทธ์ ประกาศถือธงนำให้พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมเปิดหน้าแข่งขัน-ช่วงชิงกันเต็มสูบ แม้จะคงเหลือวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ อีก 2 ปี ก็ไม่ใช่เงื่อนไขห้ามทำงานการเมือง
ด้าน รศ.พิชาย รัตนดิลก อาจารย์ประจำหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เน้นย้ำให้ร่วมกันจับตาการเลือกตั้ง ที่กำลังจะมีขึ้น "แข่งขัน-ดุเดือด" ทั้งชื่อนายกฯ ในบัญชีของพรรค ตัวผู้สมัคร ส.ส.และนโยบายหลักของพรรค และอาจเต็มกระสุนทางการเมืองที่จะเกื้อหนุนให้ได้รับชัยชนะ จนเป็นที่มาของคำว่า "ธนกิจการเมือง"
สรุปว่า ตัวเต็งในสนามเลือกตั้งปี 2566 คือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคภูมิใจไทย แต่ผู้ที่จะเข้ารับรางวัล กลับไม่ใช่นายอนุทิน หรือแพทองธาร หากแต่อาจจะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ก็ พล.อ.ประวิตร
เพราะหลังเลือกตั้ง พรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อนายกฯแล้ว เสียงที่จะร่วมโหวต-ชี้ขาดเลือกด้วย คือ 250 ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้
ดังนั้น ฉากทัศน์ทางการเมือง ปี 2566 ถ้าพรรคที่ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 หมายถึง "พรรคเพื่อไทย หรือ พรรคภูมิใจไทย" โดยพรรคเพื่อไทย อาจชนะเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่น่าจะชนะในแบบแลนด์สไลด์ หรือ จับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านเดิม แล้วเสียง ส.ส.พอที่จะชนะขาด ในการโหวตเลือกนายกฯได้ อาจต้องเพิ่มเสียงจากพรรคพลังประชารัฐ หรือ หมายถึงเสียง ส.ว.ในสาย ป.ประวิตร มาร่วมโหวตด้วย
หรืออาจหมายถึง ป.ประวิตร ที่จะเป็นนายกฯ คนที่ 30 และถ้าชัยชนะ..เป็นของพรรคภูมิใจไทย คงหนีไม่พ้นที่จะจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมก่อน ซึ่งพรรคหลักก็อาจจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ
หรือ พรรคอื่นอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีชื่อของ ป.ประยุทธ์ ร่วมทีมอยู่ด้วย เพราะปมปัญหาที่เป็นเงื่อนไขในการโหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้ต่างกับพรรคเพื่อไทย ยังคงต้องใช้เสียง ส.ว.ร่วมโหวตด้วย
หรือถ้า "พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย" จับมือกันเองจัดตั้งรัฐบาล แล้วเลือกนายกฯ คนที่ 30 ฉากทัศน์นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า จะข้ามพ้นขั้วอำนาจ 3 ป.
เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ตามบทเฉพาะกาล 5 ปี ยังเปิดทางให้วุฒิสภาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ก่อนหมดอำนาจนี้ใน พ.ค.ปี 2567 จึงขึ้นอยู่กับว่า ข้อตกลงในวันนั้น จะเลือกให้ใครเป็นก่อน ระหว่าง ป.ประยุทธ์ กับ ป.ประวิตร จึงคาดการณ์ว่า คงขั้วอำนาจเดิม แต่ปรับโฉมใหม่