วันนี้ (10 ม.ค.2566) รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เรื่องโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ
โดยขอให้ระงับงานรื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยไปก่อน และจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ก่อนหน้านี้ การรถไฟฯ มีหนังสือแจ้งวันส่งมอบสถานที่ก่อสร้าง และแจ้งให้เริ่มงานในวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้เรียกประชุมนัดแรกเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (10 ม.ค.)
มีตัวแทนของสมาคมวิชาชีพเข้าร่วม ประกอบด้วย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย, สภาสถาปนิก, สภาวิศวกร รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานระบบพัสดุ กรมบัญชีกลาง เข้าร่วมประชุม ขณะที่ผู้ว่าการ รฟท.ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยส่งรองผู้ว่าการ รฟท. พร้อมเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ เข้าชี้แจงรวม 8 คน
รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า กรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ขอให้ รฟท. ชี้แจงในรายละเอียด 9 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ความเป็นมาของโครงการ, 2.ขอบเขตงาน หรือ TOR, 3.รายละเอียดราคากลาง, 4.รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดราคากลาง (ทุกครั้ง), 5.การขออนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง บันทึกสั่งจ้างและรายละเอียดการสั่งจ้าง, 6.สำเนาข้อเสนอราคาของบริษัทผู้รับจ้าง, 7.สำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการจ้าง (ทุกครั้ง), 8.สัญญาจ้าง และ 9.เปรียบเทียบราคาการติดตั้งป้าย กับราคาตลาดโดยทั่วไป
เบื้องต้น ยังไม่สามารถสรุปผลการสอบสวนได้ในวันนี้ และในวันที่ 11 ม.ค.จะมีการประชุมอีกครั้งผ่านระบบออนไลน์ แต่ยืนยันว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง มีกำหนดการต้องรายงานผลการสอบสวนให้กระทรวงคมนาคมทราบตามกำหนดภายใน 15 วัน หรือวันที่ 19 ม.ค.นี้
ผู้ว่าการ รฟท.ชี้ระงับโครงการฯ เปิดทางสอบข้อเท็จจริง
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. ระบุว่า โครงการฯ ถูกตั้งคำถามจากสังคม และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากกระทรวงคมนาคม เพื่อแสดงความโปร่ง ซึ่งการรถไฟฯ มีความจำเป็นที่จะต้องระงับโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของกระบวนการตรวจสอบที่สามารถทำได้ เนื่องจากโครงการยังไม่ได้ดำเนินการและยังไม่ได้จ่ายเงินให้กับผู้รับจ้าง
ผู้ว่าการ รฟท. ยืนยันว่า การระงับดังกล่าวไม่ได้เป็นการยกเลิกโครงการ หากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงคมนาคม สอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นภายในกรอบ 15 วัน ก็จะต้องดูว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมีข้อแนะนำอย่างไร ซึ่งหลังทราบผลแล้วจะกำหนดแนวทางอีกครั้ง