ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ชินวรณ์" ยืนยันรัฐบาลไม่ยุบสภาฯ หนีอภิปราย

การเมือง
12 ม.ค. 66
12:08
195
Logo Thai PBS
"ชินวรณ์" ยืนยันรัฐบาลไม่ยุบสภาฯ หนีอภิปราย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ชินวรณ์" เผยรัฐบาล ชี้แจงสภาฯ พร้อมชี้แจงอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป ยืนยันรัฐบาลไม่ยุบสภาฯหนีอภิปรายแน่นอน พร้อมเสนอ ปธ.รัฐสภานัดประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หลังไม่คืบหน้า เชื่อใช้เวลาถกไม่เกิน 2 วัน

วันนี้ (12 ม.ค.2566) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยว่าทางรัฐบาลได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสภาผู้แทนราษฎรว่า พร้อมมาชี้แจงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2566 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นัดวิป 2 ฝ่าย หารือเพื่อกำหนดวันอภิปรายในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาลได้หารือกับรัฐบาลเห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนตัวเห็นว่า ระยะเวลาที่เหมาะสมในการอภิปรายคือ 2 วัน และขอให้อภิปรายกันอย่างเต็มที่

ตามประเด็นในญัตติของฝ่ายค้านมีทั้งหมด 20 ประเด็น แต่วิปรัฐบาลเห็นว่า รัฐบาลควรเตรียมการในการชี้แจงตอบครอบคลุมทุกกระทรวง ต้องเตรียมไว้ในประเด็นสำคัญ 40 ประเด็น โดยเชื่อมั่นว่า รัฐบาลสามารถชี้แจงได้อย่างชัดเจนทุกประเด็น

ประเด็นที่ฝ่ายค้าน และนักวิชาการ ออกมาพูดว่า ขอให้ฝ่ายรัฐบาลอย่ายุบสภาฯหนีการอภิปราย วันนี้เมื่อฝ่ายรัฐบาลได้ทำหนังสือมาถึงประธานสภาฯว่ามีความพร้อม ที่จะอภิปรายในวันดังกล่าว จึงอยากเรียนด้วยความมั่นใจว่า คงไม่มีการยุบสภาเพื่อหนีการอภิปรายแน่นอน ขอให้ฝ่ายค้านทำการบ้านมาอย่างเต็มที่ก็แล้วกัน

รองประธานวิปรัฐบาล ระบุว่า การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 จะเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายของสภาฯชุดปัจจุบัน จึงเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อภิปรายในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ควรนำเรื่องส่วนตัวมาอภิปรายในสภาฯ

ดังนั้นในการอภิปรายควรเป็นเรื่องของการเสนอแนะปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างตรงไปตรงมา โดยเชื่อว่านายกฯ และรัฐมนตรีจะตอบอย่างตรงไปตรงมาเมื่อเป็นการดีเบตครั้งสุดท้ายจึงเห็นว่า การอภิปรายเชิงสร้างสรรค์จะเกิดประโยชน์กับประชาชน

เชื่อว่าในโลกยุคใหม่ข่าวสารข้อมูลจะถึงพี่น้องประชาชนซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายระมัดระวังและร่วมมือกันในการอภิปราย ซึ่งการอภิปรายอาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างวันที่ 15 - 16 ก.พ.หรือวันที่ 22-23 ก.พ. ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของสภาฯในสมัยนี้ ก่อนเชิญชวนประชาชนร่วมติดตามการอภิปรายครั้งนี้

นอกจากนี้ นายชินวรณ์ ยังกล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติไปได้เพียง 2 มาตราเมื่อวานนี้ (11 ม.ค.66) ว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.ที่เสนอตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงถือว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป

แต่ปรากฏว่าการประชุม 2 วันที่ผ่านมาองค์ประชุมกลับไม่ครบ สมาชิกรัฐสภาทุกคนจึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน ตนจึงขอเสนอให้ประธานรัฐสภานัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเยาวชน

ทั้งนี้ นายชินวรณ์ ยืนยันว่า เนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้สอดรับกับการศึกษาในโลกยุคอนาคตและความเป็นพลเมือง โดยเน้นพัฒนาผู้เรียนตามช่วงวัยผ่านสมรรถนะด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีการเพิ่ม 2 กองทุนสำคัญขึ้นคือ กองทุนครูของแผ่นดิน และกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

นายชินวรณ์ เชื่อว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 2 วัน เนื่องจากหากพ้นมาตรา 20 ไปแล้วในมาตราที่เหลือสมาชิกส่วนใหญ่ได้เห็นพ้องต้องกัน จึงขอให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในสภาฯชุดนี้

ส่วนประเด็นที่กลุ่มครูและผู้บริหารการศึกษาบางส่วนยังติดใจในบางมาตรานั้น สามารถแก้ไขได้ผ่านการออกกฎหมายลูก อาทิ พระราชบัญญัติระเบียบ บริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง