วันนี้ (20 ม.ค.2566) รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมประกาศแผนปฏิรูปร่างกฎหมายแรงงานในเดือน ก.พ. โดยหวังว่าจะช่วยให้แรงงานมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น จากกฎหมายเดิมในปี 2018 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน จำกัดเวลาการทำงานปกติที่ 40 ชั่วโมง และการทำงานล่วงเวลาอีก 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะอนุญาตให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันว่าจะนับชั่วโมงการทำงานล่วงเวลามากน้อยเพียงใดในรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี
หากเป็นรายสัปดาห์จะอนุญาตให้ทำงานล่วงเวลาได้ 12 ชั่วโมง รายเดือนจะอยู่ที่ 52 ชั่วโมง รายไตรมาสจะอนุญาตที่ 140 ชั่วโมง ครึ่งปีอยู่ที่ 250 ชั่วโมง หรือหากนับหนึ่งปีเต็มจะอนุญาตให้ทำงานล่วงเวลาได้ 440 ชั่วโมง
สำหรับการนับระยะเวลาตั้งแต่หนึ่งเดือนขึ้นไป จะอนุญาตให้ทำงานล่วงเวลาได้สูงสุด 29 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หมายความว่า
ในทุก ๆ เดือน จะมีสัปดาห์ที่ลูกจ้างทำงานได้มากถึง 69 ชั่วโมง คือ 40 ชั่วโมง เวลาทำงานปกติ บวกกับ 29 ชั่วโมงทำงานล่วงเวลา ซึ่งชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาดังกล่าว สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นวันหยุดได้ในภายหลัง แต่ยังไม่ได้ประกาศอัตราในการแลก
รัฐบาลเกาหลีใต้ ระบุด้วยว่า แผนปฏิรูปร่างกฎหมายจะทำให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และในท้ายที่สุดผู้คนจะทำงานน้อยลง เป็นการกระตุ้นให้ผู้คนมีครอบครัวและส่งเสริมอัตราการเจริญพันธุ์ให้เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะแตะระดับต่ำที่ 0.7 ภายในปี 2024
ปัจจุบัน เกาหลีใต้มีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำที่สุดในโลก และจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากรัฐบาล ชี้ว่า ในปี 2019 เป็นปีที่มีประชากรในวัยทำงานมากที่สุดอยู่ที่ 38 ล้านคน และคาดว่าจะลดลงมากกว่า 9,000,000 คน ภายในปี 2040
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้จะต้องผ่านสภาแห่งชาติ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามของประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ถือเสียงข้างมากอยู่ และนักการเมืองฝ่ายค้านคัดค้านแผนดังกล่าว โดยบางคนระบุว่า ร่างกฎหมายนี้เป็นทางลัดสู่การสูญพันธุ์ของประชากร ขณะที่กระทรวงแรงงานปฏิเสธข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว และระบุว่า เป็นการเพิ่มทางเลือกเท่านั้น
ส่วนประชาชนบางส่วนไม่เชื่อว่าร่างปฏิรูปนี้จะทำให้สมดุลของการใช้ชีวิตและการทำงานจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยบางคนระบุว่า ในเกาหลีใต้ ยังมีเรื่องของวัฒนธรรมการทำงาน ที่เน้นการทำงานเป็นทีมมากกว่าทางตะวันตก ทำให้ผู้คนต้องรักษามารยาททางสังคม เช่น พอถึงเวลา 18.00 น. ต้องอย่าเพิ่งรีบกลับบ้านทันที ต้องดูว่าเพื่อนร่วมงานทำอะไรอยู่ ต้องไม่กลับขณะที่ทุกคนยังทำงานอยู่ และวัฒนธรรมที่มีอยู่เช่นนี้ อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้การดำเนินการตามแผนปฏิรูปอาจเผชิญปัญหาได้