วันนี้ (20 ม.ค.2566) ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ตลาดเหล่งบ๊วยเอี๊ยะ เป็นสถานที่ที่คนไทยเชื้อสายจีน นิยมมาจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้า ทั้งของสด ของแห้ง และ เครื่องปรุงต่างๆ โดยในช่วง 2-3 ปี ที่สำรวจมา ปีนี้คนแน่นตลาด ตั้งแต่ต้นซอย ไปจนถึงท้ายซอย
ผู้ค้าในตลาด บอกตรงกันว่า ปีนี้ คึกคักกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ราคาสินค้าบางรายการจะปรับขึ้นบ้าง ร้อยละ 5-10 แต่ก็ไม่ได้ทำให้ลูกค้าซื้อน้อยลง
ขณะที่บรรยากาศการจับจ่ายในศูนย์การค้าบางแห่งพบว่ามีประชาชนมาหาซื้อของไหว้ในเทศกาลตรุษจีนอย่างต่อเนื่อง
ชาวไทยเชื้อสายจีนคนนี้บอกว่า ช่วงตรุษจีนในแต่ละปีต้องใช้จ่ายประมาณ 3-4 พันบาทแต่ ปีนี้ต้องลดการซื้อของไหว้ลง เนื่องจากสินค้าที่เป็นของไหว้หลายรายการปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อน
ตรุษจีนคาดเงินสะพัด 4.5 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ ทัศนะของผู้ประกอบการและประชาชน ในช่วงวันตรุษจีน พบว่า
การใช้จ่ายช่วงตรุษจีน ปี 2566 เทียบ ปี 2565 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 38.4 ไม่เปลี่ยนแปลง ร้อยละ 41.3 ลดลง ร้อยละ 20.3
โดย สาเหตุใช้จ่ายช่วงตรุษจีน ปี 2566 เพิ่มขึ้น มาจาก ราคาสินค้าแพงขึ้น ร้อยละ 46.8 เศรษฐกิจดีขึ้น ร้อยละ 25.4 ได้โบนัสเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.5 และ อื่นๆ ร้อยละ 13.3
ส่วนสาเหตุที่ทำให้การใช้จ่ายลดลง มีทั้ง หนี้สินเพิ่มมากขึ้น ต้องการลดค่าใช้จ่าย ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี รายได้ลดลง เป็นต้น
ราคาของเซ่นไหว้ช่วงตรุษจีน ปี 2566 เทียบ ปี 2565 พบว่า แพงขึ้น เล็กน้อย-มาก ร้อยละ 65
ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างที่มองว่าราคาของเซ่นไหว้ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ร้อยละ 32.8 ทั้งนี้เมื่อราคาของเซ่นไหว้แพงขึ้นกลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 3 ยังคงซื้อของเท่าเดิมเพราะมีปีละครั้ง แต่สัดส่วนกลุ่มนี้ ก็ใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างที่ซื้อของลดลง ขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างยังปรับพฤติกรรม โดยซื้อเฉพาะของที่จำเป็น ซื้อของคุณภาพลดลง และใช้ของที่เหลือจากปีก่อน
ส่วน เงินสะพัดในช่วงตรุษจีน ปี 2566 ประเมินว่า จะมีมูลค่า 45,017 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 13.6
การใช้จ่ายดังกล่าวเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563 โดยในช่วงระหว่างปี 2563 ถึง 2565 การใช้จ่ายช่วงตรุษจีนชะลอตัวลงต่อเนื่อง และการใช้จ่ายในปีนี้มากกว่าปี 2564 มีการใช้จ่ายประมาณ 44,000 ล้านบาท
เมื่อถามว่า ความคึกคักช่วงตรุษจีน ปี 2566 เทียบ ปี 2565 จะเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่าง บอกว่า คึกคักมากกว่า ร้อยละ 39.9 , คึกคักเท่าเดิม ร้อยละ 55.1 , คึกคักน้อยกว่า ร้อยละ 4.4 , เงียบเหงา ร้อยละ 0.6
การจับจ่ายใช้สอยในช่วงตรุษจีนยังเป็นรูป K-shape การฟื้นตัวเกิดขึ้นจากคนชั้นกลางขึ้นไป ที่พร้อมจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ปานกลาง-น้อย ยังระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจก็คือแหล่งที่มาของเงินที่ใช้จ่ายช่วงตรุษจีนปีนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการนำเงินออมออกมาใช้จ่าย