แต่สิ่งนี้ดูเหมือนจะสวนทางกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ยุติการจ่ายยาต้านไวรัสที่ป้องกันการติดเชื้อ HIV หรือ PrEP และยาป้องกันการติดเชื้อ HIV กรณีฉุกเฉิน หรือ PEP ในคลินิกภาคประชาสังคม
ส่วนหนึ่งเพื่ออยากควบคุมงบประมาณ และให้โรงพยาบาลรัฐเป็นผู้จ่ายยา รวมถึงอยากให้กลุ่มเสี่ยงได้พบแพทย์ในโรงพยาบาล
คำถามที่ตามมาคือ โรงพยาบาลรัฐมีความพร้อมแค่ไหน เพราะปัจจุบันต้องดูแลผู้ป่วยตามสิทธิจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุข มีทางเลือกคือ หากประชาชนใช้สิทธิบัตรทอง จะสามารถใช้สิทธิตามโรงพยาบาลที่ระบุไว้ หรือคลินิกของรัฐบาล 16 แห่งใน กทม.
แต่ที่เป็นเรื่องถกเถียงกันในสังคมก็คือ กรณีที่มีเพียงสิทธิประกันสังคมและอยากจะรับยา จะต้องเสียเงินตรวจเลือด และเสียค่ายาเอง เพราะสิทธิไม่ครอบคลุม
วันนี้ (22 ม.ค.2566) ทีมข่าวไทยพีบีเอส รายงาน การสอบถามผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ สาขาสีลม ซึ่งให้บริการยา PrEP และยา PEP มา 10 ปี อธิบายว่า
ยา PrEP เป็นเหมือนเกราะป้องกันให้กลุ่ม Sex Worker หรือผู้ที่ไม่มั่นใจในคู่นอนของตนเอง กินเพื่อป้องกันก่อนมีเพศสัมพันธ์ ส่วนยา PEP กินหลังมีความเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ใช่คู่รัก ถุงยางแตก หรือ กรณีถูกกระทำชำเรา
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหากการรับยาของกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงยาก จะช่วยตัดวงจรของการติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ได้อย่างไร
ล่าสุด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธาณสุข หาทางออกร่วมกับคลินิกภาคประชาสังคมทั่วประเทศ โดยให้คลินิกจับคู่กับโรงพยาบาลรัฐ ส่งต่อข้อมูลกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการรับยา PrEP และยา PEP และให้นำโควตายาของโรงพยาบาล ส่งให้กับคลินิกภาคประชาสังคม เริ่มวันนี้ (22 ม.ค.) เป็นวันแรก ในช่วงระหว่างสุญญากาศ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ส่วนจะจะใช้โมเดลนี้ต่อหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณา