วันนี้ (24 ม.ค.2566) The Phnom Penh Pos โพสต์ รายงานข่าวคณะกรรมการกีฬาซีเกมส์ของกัมพูชา เดินหน้าจัดแข่งขัน กุนขแมร์ แทนการใช้คำว่ามวย ที่จะหมายถึงกีฬาคิกบอกซิ่ง ในการแข่งขันซีเกมส์เดือนพ.ค.นี้ แม้จะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝ่ายไทย และขู่จะคว่ำบาตร
กุนขแมร์ ก็คือ กีฬาที่ใช้กติกาเหมือนมวยไทยสมัครเล่นทุกอย่าง ออกอาวุธได้เหมือนกัน และชก 3 ยก แต่ครั้งนี้ไม่ต้องการเรียกว่า มวย เพราะมองว่า คือ คิกบอกซิ่ง
อีกเหตุผลที่กัมพูชา เลือกจะใช้คำว่า กุนขแมร์ ที่หมายถึง คนเขมร ก็คือการแสดงถึงเอกลักษณ์ประจำชาติของประเทศเจ้าบ้าน โดยจะเดินหน้าจัดการแข่ง ขันต่อ เพราะมีอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว เมียนมา และมาเลเซีย ถือว่าเกิน 4 ประเทศ สามารถจัดแข่งขันได้
เหตุผลไทยไม่ส่งนักกีฬา "กุนขแมร์"
โดยในรายงานข่าวนี้ อ้างถึงการตอบโต้ที่แข็งกร้าว จากคำให้สัมภาษณ์ ในรายการ ThaiPBS Sport ของนายศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธานสมาพันธ์มวยไทยนานาชาติ ที่ไทยจะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน
ดร.ศักดิ์ชาย ยืนยันด้วย 2 เหตุผลหลัก คือ ในซีเกมส์ที่ผ่านมา มีข้อตกลงกันไว้แล้วว่าให้ใช้ชื่อ "มวย" และเจ้าภาพไม่ได้ให้สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานา ชาติ หรืออีฟมา เข้ามาจัดการแข่งขัน เท่ากับว่า กุนขแมร์ เป็นกีฬาที่ไม่ถูกรับรองโดยสหพันธ์กีฬานานาชาติที่ถูกต้อง
ถ้าชาติไหนส่งแข่ง ก็จะถูก อีฟม่า ลงโทษแบนจากมหกรรมกีฬาต่างๆ ทั้ง เวิลด์เกมส์ เอเชี่ยนอินดอร์ และ มาร์เชียลอาร์ต เกมส์ รวมถึงมวยไทยชิงแชมป์โลกด้วย
อีฟม่ามีหนังสือแจ้งให้สมาชิกว่าถ้าประเทศใดร่วมการแข่งขันจะไม่อนุญาตแข่งขันในรายการที่อีฟม่ารับรอง
กลายเป็นว่า "กุน แขมร์" จะกลายเป็นกีฬาพื้นบ้านของเจ้าภาพไปโดยปริยาย ซึ่งในซีเกมส์ครั้งนี้ เจ้าภาพ บรรจุ "กุนขแมร์" ไว้ 11 เหรียญทอง โดยกัมพูชา ยืนยันที่จะไม่สนใจการถอนตัวของไทย และจะไม่ส่งนักมวย เข้าแข่งขันในซีเกมส์ 2025 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ
ถ้ามองเฉพาะมวย ก็ถือเป็นกรณีที่มีการถกเถียงกันมายาวนานว่าใครกันแน่เป็นต้นกำเนิด เพราะทั้งไทย และกัมพูชา ก็อ้างว่าเป็นผู้ริเริ่มศิลปะการต่อสู้นี้ แต่ ดร.ศักดิ์ชาย ยืนยันว่า ไม่บ่อยครั้งที่จะมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะซีเกมส์ 3 ครั้งหลัง ทั้งฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ก็ใช้คำว่ามวย และปฏิบัติตามกฎนานาชาติ ทั้งๆ ที่ก็มีกีฬาพื้นบ้านอยู่เหมือนกัน
สำหรับ กุนขแมร์ คล้ายมวยบ้าง แต่จะไม่เหมือนมวยไทย และมองว่า ถ้าใช้คำว่ามวย มันสื่อถึง คิกบ็อกซิ่ง มากกว่า และยังอ้างถึงการเป็นเจ้าของวัฒนธรรมศิลปะป้องกันตัว และในฐานะของเจ้าภาพสามารถกำหนดชื่อของกีฬาได้ตามกฎบัตรซีเกมส์
เบื้องหลัง "มวย" สู่ กุน แขมร์
ดร.ศักดิ์ชาย ระบุว่า ช่วงแรกกัมพูชา บอกว่า จะใช้ชื่อนี้ แต่วงเล็บว่ามวย ตามที่ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือโอซีเอ และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ให้คำแนะนำ ว่าถ้าจะจัด "กุน ขแมร์" ต้องมีคำว่ามวย ในวงเล็บ และให้อีฟม่า รับรอง และได้นำเอาเทคนิเคิล แฮนด์บุ๊กของไทย ซึ่งเป็นคู่มือการแข่งขันไปใช้หมด
แต่ต่อมาในภายหลัง กัมพูชาเปลี่ยนท่าที ไม่ใช้คำว่ามวย ตั้งองค์กรขึ้นมารับรองเอง และส่งเทคนิเคิล แฮนด์บุ๊ก มาใหม่
โดยระบบของซีเกมส์ ต้องใช้กีฬาสากล แม้เจ้าภาพใช้พื้นบ้านได้ แต่ประเทศอื่นก็จะต้องมีฝึกหัดกันมาก่อนเหมือนกัน จะได้แข่งขันกันได้ ขณะที่การแข่งขันชนิดกีฬาที่มีองค์กรนานาชาติรับรอง ก็ยังหมายถึงความปลอดภัยของนักกีฬาด้วย เช่น การมีผู้ตัดสินที่ผ่านมาตรฐานสากล
ไทยมองว่า คณะกรรมการโอลิมปิกกัมพูชา ไม่มีความรู้ในบทบาทของกีฬานานาชาติ และจะทำให้นักกีฬากัมพูชาถูกแบนทันที ไม่มีโอกาสไปแข่งขันรายการนานาชาติ นอกจากนี้ มีรายงานว่า เมียนมา อาจทบทวนไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกุน ขแมร์ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิกของอิฟม่า