วันที่ 24 ม.ค.2566 เพจเฟซบุ๊ก "Drama-addict" โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการขโมยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยชีวิตก่อนไข้ก่อนถึง รพ. โดยระบุว่า
"คนที่ขโมยเครื่อง AED ไปขายใน กทม. ซึ่งตอนนี้ขโมยไป 27 เครื่อง เป็นมูลค่าความเสียหายเกิน 1.8 ล้านบาท เจ้าหน้าที่กำลังไล่จับอยู่ แต่อยากบอกให้คนพวกนี้รู้ว่า เครื่อง AED นี่สำคัญมาก
ทุกวันนี้มีคนที่ป่วยโรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงเยอะ ซึ่งในกลุ่มคนที่ เดิน ๆ อยู่ วิ่ง ๆ อยู่ จู่ ๆ ทรุดฮวบหมดสติไปแล้วก็เสียชีวิต ส่วนมากก็จากสาเหตุนี้ (คนที่วิ่งมาราธอน หรือออกกำลังกายอยู่แล้วจู่ ๆ เสียชีวิตเป็นจากสาเหตุนี้ซะมาก)
ถ้าเกิดเหตุแบบนั้น คนที่เจอจะรีบ CPR เพื่อช่วยชีวิตคนไข้ ถ้ามีเครื่อง AED จะช่วยเพิ่มโอกาสในการกู้ชีพเขา หลายเท่าตัวเลย จากนั้นก็รีบนำส่ง รพ. ให้ถึงมือหมอให้ไวที่สุด
แต่ไม่ว่าจะไวยังไง สิ่งที่ดีที่สุดกับคนไข้ คือการเข้าถึง AED ให้ไวที่สุด ยิ่งเข้าถึง AED ไวแค่ไหน ยิ่งมีโอกาสรอดตายสูงขึ้นเท่านั้น แล้วนี่ขโมยไปขาย 27 เครื่องแล้ว ถ้ามีคนหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะแถวนั้นจะทำไง"
ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ก็มีข้อมูลที่เพจเครือข่ายรถจักรยานยนต์ฉุกเฉินทางการแพทย์ ที่ออกมาโพสต์ว่า "โปรดระวัง อย่าซื้อต่อเครื่อง AED ที่ขโมย มีมิจฉาชีพกำลังไล่ขโมยเครื่อง AED ฟรีเพื่อประชาชน ของสภากาชาดไทย ตามป้อมตำรวจและสถานที่ราชการทั่วประเทศมาขาย โดยทั้งภายในและภายนอกของเครื่องมีหมายเลขที่สามารถระบุถึงเจ้าของเครื่องได้ อาจเสียเงินและถูกดำเนินคดีได้
จากการสืบค้นเพิ่มเติมถึงกรณีการขายต่อเครื่อง AED ปรากฏว่า มีเพจ "ไม่ใช่หมอบ่น Aggressive not doctor" ที่โพสต์ภาพ อ้างว่ามีผู้โพสต์ขาย AED ที่ขโมยมา ในภาพเป็นโพสต์ของกลุ่มหนึ่งในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผู้โพสต์ ได้ลงประกาศขาย AED ในราคาถูก พร้อมยังให้เบอร์โทรติดต่อไว้
ช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ เริ่มมีการติดตั้งเครื่อง AED มากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากการรณรงค์ความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ ทำให้มีหลายหน่วยงาน ทั้งรัฐและเอกชน จัดสรรงบประมาณมาติดตั้ง AED แต่อีกส่วนเป็นเพราะมีกฎกระทรวงมหาดไทยที่ได้ประกาศออกมาเมื่อปี 2564
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงมหาดไทย ที่มีใจความระบุว่า อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED ซึ่งตามนิยมคืออาคารสูง หมายถึงอาคารที่สูงกว่า 23 เมตร ส่วนอาคารขนาดใหญ่พิเศษ คือ มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
อ่านข่าวอื่นๆ
"โม่เหอ" ประเทศจีนหนาวจัด -53 องศาเซลเซียส
เปิดราคาต่างชาติฉีดวัคซีนโควิด -19 ในไทย
กองทัพเรือ พิจารณาบรรจุทายาทกำลังพล เหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง