ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่เท่ากรุงเทพฯ แตกตัวออกมาจากขั้วโลกใต้!

Logo Thai PBS
ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่เท่ากรุงเทพฯ แตกตัวออกมาจากขั้วโลกใต้!
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ มีส่วนทำให้ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่เทียบเท่ากับกรุงเทพฯ แตกตัวออกจากจากทวีปแอนตาร์กติกา หลังจากที่นักวิทย์ค้นพบรอยแตกมานานนับสิบปี

ภาพถ่ายดาวเทียมของคณะกรรมการวิจัยสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ (Natural Environment Research Council) เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา เปิดเผยให้เห็นถึงภูเขาน้ำแข็งที่ขนาดยักษ์กำลังแตกตัวออกมาจาก "หิ้งน้ำแข็งบลันท์" (Brunt Ice Shelf) หิ้งน้ำแข็งที่มีความหนากว่า 150 เมตรในทวีปแอนตาร์กติกา หรือขั้วโลกใต้

ขณะที่ ทางทีมนักวิทยาศาสตร์จากหน่วยสำรวจแอนตาร์กติกอังกฤษ (British Antarctic Survey - BAS) กล่าวในรายงานเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้เพิ่งแตกตัวออกมานั้น เป็นผลกระทบมาจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์ในช่วงวันเพ็ญข้างขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดคลื่นลมที่รุนแรงกว่าปกติ ไม่ได้มีต้นตอสาเหตุมาจากวิกฤตภาวะโลกร้อนแต่อย่างใด โดยนักวิทยาศาสตร์เรียกคลื่นในลักษณะนี้ว่า "คลื่นฤดูใบไม้ผลิ" ถึงแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับฤดูกาลก็ตาม

โดยนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้ค้นพบรอยร้าวบนหิ้งน้ำแข็งบลันท์ที่ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 แล้ว ซึ่งมีการสังเกตและจดบันทึกขนาดของรอยร้าวที่เกิดจากคลื่นลมอยู่เป็นประจำผ่านระบบเครือข่ายดาวเทียมสำรวจโลก ก่อนที่ต่อมาในปี 2016 ทีมนักวิทย์ก็ได้ย้ายแคมป์ที่พักออกไปไกลจากจุดที่พบรอยร้าวประมาณ 23 กิโลเมตร เนื่องจากเหตุผลทางด้านความปลอดภัย

จนกระทั่งภูเขาน้ำแข็งได้แตกตัวออกมาจริง ๆ ซึ่งหน่วยสำรวจแอนตาร์กติกอังกฤษมีการคาดการณ์ขนาดไว้ที่ประมาณ 1,550 ตารางกิโลเมตร หรือ พอ ๆ กับขนาดพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (1,569 ตารางกิโลเมตร) เลยทีเดียว และกำลังมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก บริเวณแถบทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งการที่นักวิทยาศาสตร์สามารถแยกแยะภูเขาน้ำแข็งที่แตกตัวจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติกับภาวะโลกร้อนได้นั้น ถือว่าเป็นตัวชี้วัดความแม่นยำของเทคโนโลยีดาวเทียมในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ที่มาข้อมูล: SPACE.COM
ที่มาภาพ: Natural Environment Research Council
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง