วันนี้ (30 ม.ค.2566) เพจเฟซบุ๊ก JD CENTRAL โพสต์ข้อความแจ้งจะหยุดการให้บริการ โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.นี้ และจะปิดการสั่งซื้อสินค้าเวลา 23.59 น.ใน วันที่ 15 ก.พ.นี้
นอกจากนี้ยังระบุว่า การจัดส่งสินค้า JD CENTRAL จะจัดการคำสั่งซื้อสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์ ก่อนและภายในวันที่ 3 มี.ค.นี้ โดยเวลาการจัดส่งจะขึ้นอยู่กับการดำเนินการของบริษัทขนส่งภายนอกและผู้ขาย
ส่วนการบริการหลังการขาย จะยังคงให้บริการหลังการขายสำหรับคำสั่งซื้อที่เสร็จสมบูรณ์ โดยจะเปิดให้บริการถึงวันที่ 31 มี.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 9.00-18.00 น. ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้ แพลตฟอร์ม JD CENTRALศูนย์บริการช่วยเหลือลูกค้าออนไลน์ (Live Chat Channel) โทรศัพท์ 02-030-4599
อีเมล : cs@jd.co.th
คูปองส่วนลด :คะแนนสะสม JD (JD POINTS) และคูปองส่วนลดจะสามารถใช้ได้จนถึงเวลา 23.59 น. วันที่ 3 มี.ค.นี้ ขณะที่การรับประกันสินค้า ดำเนินการโดยแบรนด์ ตามนโยบายของแบรนด์และกฎหมายไทย
JD CENTRAL ขอขอบคุณลูกค้า คู่ค้า พาร์ทเนอร์ และพนักงานทุกท่านที่ให้การสนับสนุนอันดีมาโดยตลอด และเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางของเราตลอดหลายปีที่ผ่านมาขอแสดงความนับถือ
ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง
บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด ให้สาเหตุว่า การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของบริษัท JD.com เพื่อมุ่งเน้นการขยายและพัฒนาธุรกิจในตลาดต่างประเทศ และการสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนข้ามพรมแดนผ่านการกระจายสินค้าและการขนส่งเป็นหลัก ถือเป็นการถอนธุรกิจออกจากไทย หลังจากดำเนินการมาได้ราว 5 ปี
การถอนครั้งนี้ สร้างความประหลาดใจวงการธุรกิจอีคอมเมิร์สไม่น้อย เพราะเจดี เซ็นทรัล เป็นบริษัทฟินเทคใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน แต่หากย้อนผลประกอบการ พบว่ารายได้ของเจดี เซ็นทรัล ขาดทุนต่อเนื่อง ปี 2564 ขาดทุนราว 1,900 ล้านบาท ปี 2563 ขาดทุนราว 1,300 ล้านบาท และหากดูธุรกิจอีคอมเมิร์ส หลายธุรกิจ มีปัญหาด้านการเงิน และเลิกจ้างพนักงาน ทั้งอเมซอน ช้อปปี้
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ระบุว่า การยุติกิจการของ JD CENTRAL เพราะไม่สามารถแข่งขันกัน Shopee และ Lazada ที่ยังครองตลาด และปีนี้มีโอกาสเห็นธุรกิจอีคอมเมิร์สยุติกิจการ หรือ เลย์ออฟ พนักงานเพิ่มอีก
จากที่เคยแข่งขันดุเดือดช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดหนัก แต่หลังจากโควิด 19 คลี่คลาย คนออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ปัญหาค่าครองชีพ คนระมัดระวังการใช้จ่ายและช้อปออนไลน์น้อยลง ดังนั้น แพลตฟอร์มออนไลน์รายใดแข่งไม่ไหวก็ต้องยุติธุรกิจการลง
ปีนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ส จะเติบโตราวร้อยละ 10 มีมูลค่า 600,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 700,000 ล้านบาท
ข้อมูลจาก KKP Research พบว่า Shopee และ Lazada มีจำนวนผู้เข้าใช้งานมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการค้าปลีกออนไลน์ทั้งหมดในประเทศ
โดยมีจำนวนการเข้าใช้งานเฉลี่ยต่อเดือน สูงถึง 51 ล้านและ 33 ล้านราย ตามลำดับ ขณะที่ JD CENTRAL มีจำนวนเข้าใช้งาน 2 ล้านคน