“ไทยพีบีเอส” พูดคุยกับชายชาวโรฮิงญาวัย 22 ปีที่ใช้ชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยมาทั้งชีวิต “ลำบาก อยุติธรรม และไร้ความหวัง” คือ 3 คำที่เขาบรรยายชีวิตผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ
ภาพค่ายผู้ลี้ภัยกุตาปาลอง ประเทศบังกลาเทศ ภาพจาก © UNHCR/Roger Arnold
22 ปีในค่ายผู้ลี้ภัย ความลำบากในบังกลาเทศ
ความทรงจำในวัยเด็กของอาลี (นามสมมติ) ชายชาวโรฮิงญาวัย 22 ปีนั้นรางเลือน เขาจำได้เพียงว่าเกิดและโตในค่ายผู้อพยพเมืองค็อกบาร์ซา ประเทศบังกลาเทศ พ่อแม่เล่าให้อาลีฟังว่าพ่อเป็นนักธุรกิจมีบริษัทเล็กๆ อยู่ในเมืองมองดอ รัฐยะไข่ และเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ต่อมาในปี 2535 รัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่อย่างลับๆ ที่ดินของครอบครัวอาลีถูกยึด บ้านถูกเผา พ่อแม่ของเขาจึงขึ้นเรือข้ามฝั่งมายังประเทศบังกลาเทศ และอาศัยค่ายผู้ลี้ภัยเป็นที่พำนักนับตั้งแต่นั้น จนกระทั่งคลอดอาลีในปี 2544 ครอบครัวของอาลีจึงเป็นผู้อพยพรุ่นแรกๆ ที่แสวงหาความปลอดภัยในบังกลาเทศ
ตลอดชีวีตของอาลี ไม่มีสิทธิเลือกว่าวันนี้จะกินอะไร ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวเพราะต้องอยู่รวมกันอย่างแออัดภายใต้กระท่อมชั่วคราวที่กันฝนได้บ้างไม่ได้บ้าง หนาวเย็นในเวลากลางคืน และร้อนจัดในเวลากลางวัน อาลีไม่ได้รับการศึกษาเพราะในค่ายผู้ลี้ภัยไม่มีโรงเรียน แต่โชคดีที่ได้เรียนภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์เบื้องต้นจากพ่อแม่ เพราะทั้งคู่ได้รับการศึกษามาก่อน
อาลีมองว่า พ่อแม่ของเขาต้องหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอนในรัฐยะไข่เพราะปัญหาความเกลียดชังชาวมุสลิม ซึ่งเป็นความขัดแย้งสะสมระหว่างกลุ่มคนพุทธสุดโต่งและชาวโรฮิงญา จนทำให้พ่อของเขาต้องทิ้งทุกอย่างไว้ที่เมียนมาแลกกับความปลอดภัยของครอบครัว
ข้อมูลจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในรัฐยะไข่ทางภาคตะวันตกของประเทศเมียนมาติดกับชายแดนบังกลาเทศ เคยมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ต่อมารัฐบาลเมียนมาปฏิเสธการมีอยู่ของกลุ่มชนชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยอ้างว่าพวกเขาเป็น “ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ” ชาวโรฮิงญาจึงถูกเพิกถอนสัญชาติและสิทธิพลเมืองเมียนมา จนกลายเป็นผู้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ
ทางการเมียนมาควบคุมและจำกัดการเดินทางของชาวโรฮิงญาอย่างเข้มงวด กีดกันพวกเขาออกจากประชากรส่วนอื่น ๆ ของสังคม ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และไม่มีงานทำ การเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบเช่นนี้ ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ข้อมูลล่าสุดจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุว่า จำนวนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยประเทศบังกลาเทศมีจำนวนกว่า 1.1 ล้านคน
ความอยุติธรรมในค่ายผู้ลี้ภัย
อาลีเล่าว่า พวกเขาไม่มีหนังสือเดินทาง ทำให้เดินทางและหางานทำไม่ได้ เพราะจะถูกตำรวจบังกลาเทศจับในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย อาหารและปัจจัยสี่ต้องอาศัยการสนับสนนุนจาก UNHCR องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ รัฐบาลบังกลาเทศ และผู้บริจาคอิสระจากแหล่งอื่นๆ เป็นหลัก ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้อพยพจำนวนกว่า 1.1 ล้านคน
ผู้หญิงและเด็กในค่ายผู้ลี้ภัยแทบไม่มีความปลอดภัย พวกเขาถูกล่วงละเมิดโดยชายชาวโรฮิงญาภายในค่ายหรือนักการเมืองท้องถิ่นชาวบังกลาเทศที่ถูกตาต้องใจเด็กและหญิงสาวเหล่านั้น แม้ครอบครัวชาวโรฮิงญาทราบว่าพวกเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ก็แจ้งตำรวจไม่ได้ เพราะอาจถูกยัดข้อหา ยัดยาเสพติด หรือแม้แต่ยัดอาวุธ หากพยายามแจ้งความดำเนินคดีกับผู้มีอิทธิพลในค่ายผู้ลี้ภัย
ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศจึงสร้างความทุกข์ให้กับครอบครัวชาวโรฮิงญาที่ไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่เขารักได้ ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากซึ่งพวกเขาต้องเผชิญในทุกวัน
ไร้ความหวัง เมื่อความยุติธรรมอาจไม่มีวันเกิดขึ้น
“กลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี คืนสิทธิพลเมืองเต็มขั้น” (Return home dignity with full citizenship) คือแคมเปญรณรงค์ที่เกิดขึ้นในค่ายผู้อพยพกุตาปาลอง เมืองค็อกซ์บาซาร์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 อาลีเล่าว่าผู้อพยพภายในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ต่างตอบรับแคมเปญนี้ด้วยความหวัง เพราะต้องการชีวิตที่ปกติสุข ไม่ต้องทนทุกข์อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอีกต่อไป
ภาพชาวโรฮิงญาในค่ายกุตาปาลองออกมารณรงค์แคมเปญ “กลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี คืนสิทธิพลเมืองเต็มขั้น” วันที่ 31 ธ.ค. 2565
สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้นำการรณรงค์ “กลับบ้านอย่างมีศักดิ์ศรี คืนสิทธิพลเมืองเต็มขั้น” ในคืนวันนั้น คือ ถูกเจ้าหน้าที่บังกลาเทศบุกค้นบ้านพักในค่ายผู้อพยพ และพบยาเสพติดรวมถึงอาวุธภายในค่าย ทั้งที่ผู้ถูกจับกุมไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมเช่นนี้มาก่อน
ผู้นำการรณรงค์ถูกดำเนินคดีในข้อหาก่อการร้าย และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ แคมเปญดังกล่าวหายไปกับสายลมราวกับไม่เคยเกิดขึ้น ผู้คนต่างหวาดกลัวที่จะออกมาส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง
อาลีบอกว่าพวกเขารอคอยความยุติธรรมอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม นับตั้งแต่ปี 2559-2560 ที่กองทัพเมียนมา เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยหนีตายมายังบังกลาเทศกว่า 8 แสนคน แต่กลับไม่มีนายทหารคนใดได้รับโทษแม้แต่คนเดียว ตรงกันข้าม นายพลมินอ่องหล่าย ผู้นำกองทัพกลับได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศเมียนมา หลังทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนสำเร็จในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2564
แม้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ รับพิจารณาคดีที่ประเทศแกมเบียยื่นฟ้องศาลเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และออกคำสั่งชั่วคราวให้รัฐบาลเมียนมาใช้อำนาจทั้งหมดที่มี ป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาระหว่างที่ศาลพิจารณาคดี แต่ไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ จากรัฐบาล ตรงกันข้ามนายพลมินอ่องหล่ายพยายามให้ผู้เเทนคณะใหม่ของเมียนมาโต้แย้งคำร้องคัดค้านเบื้องต้นในชั้นศาล หลังจากตนเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
บรรยากาศไร้ความหวังเช่นนี้ ทำให้ชาวโรฮิงญาที่มีครอบครัวหรือคนรู้จักอยู่ในประเทศที่สาม เริ่มติดต่อเพื่อหาลู่ทางออกจากค่ายผู้ลี้ภัยอีกครั้ง แม้ต้องฝากชีวิตไว้กับขบวนการค้ามนุษย์ก็ตาม
ฝากชีวิตไว้กับมหาสมุทร หรือจ้างกลุ่มติดอาวุธนำพาไปสู่ประเทศที่สาม
อาลีบอกว่าไม่พบนายหน้าชาวไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียเข้ามาติดต่อกับชาวโรฮิงญาในค่ายผู้อพยพ ขบวนการค้ามนุษย์ที่คอยนำพาชาวโรฮิงญาไปยังประเทศที่สามส่วนใหญ่เป็นนายหน้าชาวโรฮิงญา ชาวบังกลาเทศ และชาวเมียนมา โดยมี 2 เส้นทาง คือ ทางบกและทางทะเล ค่าใช้จ่ายการเดินทางอยู่ที่ 500,000 ธากา หรือ ประมาณ 150,000 บาทต่อคน โดยครอบครัวหรือญาติผู้ลี้ภัยในต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ
ภาพชาวโรฮิงญากว่า 70 คนที่ถูกจับกุมได้ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในข้อหาลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย วันที่ 7 ม.ค. 2566
เส้นทางบกเริ่มต้นขึ้นที่รัฐยะไข่ ผู้นำพาหลักคือกลุ่มติดอาวุธกองทัพอาระกัน หรือ Arakan Army ชาวโรฮิงญาจะถูกพาไปยังเมืองย่างกุ้ง จากนั้นจึงหาลู่ทางให้กลุ่มผู้อพยพเดินทางเข้าประเทศไทย โดยติดต่อกับกลุ่มผู้นำพาท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง เพื่อส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย
ภาพผู้อพยพบเรือที่ออกเดินทางจากบังกลาเทศในวันที่ 29 ธ.ค. 2565 เพื่อเดินทางไปประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย บนเรือมีผู้อพยพจำนวน 140 คนจาก 34 แคมป์ในค็อกซ์บาซาร์ ภาพจาก ทวิตเตอร์ @MediaRohingya
ขณะที่เส้นทางทะเล นายหน้าจะรวบรวมคนจากแคมป์ต่างๆ ครั้งละ 80-150 คน ลงเรือบดลำเล็กๆ จากชายหาดทางตอนใต้ของบังกลาเทศ แล้วไปขึ้นเรือประมงขนาดใหญ่ที่บริเวณพรมแดนเมียนมา-บังกลาเทศ เรือแต่ละลำจะมีโทรศัพท์ดาวเทียมไว้สื่อสาร พร้อมกับน้ำและอาหารที่คาดว่าจะเพียงพอต่อการเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย แต่ด้วยสภาพเรือที่ไม่เหมาะสมกับการเดินทางไกล เรืออพยพบางลำจึงเสียระหว่างทาง เมื่อเจอกับคลื่นลมแรงในมหาสมุทร ชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งจึงเสียชีวิตหรือสูญหายกลางทะเล
อาลีมองว่าด้วยสภาพที่บีบคั้นภายในค่ายผู้ลี้ภัย ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งที่มีญาติหรือครอบครัวอยู่ต่างประเทศพยายามหาความหวังใหม่ในประเทศอื่น และเลือกที่จะฝากชีวิตไว้ในมือขบวนการค้ามนุษย์ ถึงแม้ว่าพวกเขาอาจไปไม่ถึงที่หมายและจบชีวิตลงระหว่างเดินทางก็ตาม
กลุ่มนักสิทธิฯ-ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ยื่นฟ้องรัฐบาลเมียนมาต่อศาลเยอรมัน
วันที่ 20 มกราคม 2566 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชื่อ ฟอร์ทิฟาย ไรทส์ (Fortify Rights) ร่วมกับกลุ่มโจทก์ 16 คนที่อาศัยอยู่ในหลายประเทศรวมทั้งเมียนมาและตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา ยื่นฟ้องต่อสำนักงานอัยการกลางของเยอรมนี ขอให้อัยการเยอรมนีเปิดการสอบสวนเจ้าหน้าที่เมียนมารายบุคคล โดยอ้างถึงปฏิบัติการของกองทัพเมียนมาที่ใช้กำลังกวาดล้างชาวโรฮิงญาในปี 2560 รวมถึงอาชญากรรมที่เกิดขึ้นช่วงหลังการรัฐประหารปี 2564 ที่มีการสังหาร ข่มขืน ทรมาน คุมขัง อุ้มหาย ข่มเหง และกระทำการอื่น ๆ อันเทียบเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน