เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2566 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่นาข้าวหอมปทุมธานี 20 ไร่ ในเขตหนองจอก กทม. ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 50,000 บาท ยังไม่รวมค่าปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช
ชาวนาบอกว่า เงินที่นำมาลงทุนทั้งหมดเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เริ่มกู้มาลงทุนตั้งปี 2558 เป็นเงินต้นกว่า 1,000,000 บาท ดอกเบี้ยอีกกว่า 40,000 บาท จนถึงวันนี้เป็นเวลา 7 ปีแล้ว ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ได้ ทุกวันนี้ขายข้าวได้ก็ชำระได้เพียงดอกเบี้ยเท่านั้น
ราคาข้าวไม่ดี เพียงตันละ 7,000 บาท ขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นทั้งปุ๋ยและยา บางปีเกิดภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตเสียหาย ทำให้รายได้ไม่พอใช้หนี้

แม้ที่ผ่านมา จะมีนโยบายต่างๆ ช่วยเหลือชาวนา เช่น จำนำ หรือ ประกันรายได้ เป็นการช่วยเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยต้องการให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า กลุ่มชาวนาถือเป็นฐานเสียงสำคัญของทุกรัฐบาล เพราะมีถึง 4.5 ล้านครัวเรือน
ที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างๆ พยายามนำเสนอนโยบายเพื่อให้ความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น แต่จนถึงทุกวันนี้พบว่าชาวนาส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้และไม่สามารถเข้มแข็งได้ เพราะนโยบายที่ออกมาเป็นนโยบายชั่วคราวและไม่ได้เน้นความยั่งยืน เช่น การมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ การลดต้นทุนการผลิต
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ระบุว่า ครัวเรือนเกษตรมีภาระหนี้สินสูง จากข้อมูลสินเชื่อของ ธ.ก.ส.ปี 2561 ระบุว่า ร้อยละ 50 ของครัวเรือนชาวนาไทยกว่า 4.5 ล้านครัวเรือนมีหนี้สิน มากกว่า 200,000 บาท ร้อยละ 20 มีมากกว่า 400,000 บาท
และที่สำคัญก็คือร้อยละ 54 ของครัวเรือนเหล่านี้ ได้อยู่ในโครงการพักหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยภาระหนี้สินสูงสุดในกลุ่มครัวเรือนชาวนาในภาคกลางและปริมณฑล ซึ่งมีสัดส่วนของการเข้าโครงการพักหนี้สูงที่สุด