ขายกันแบบธรรมดา โลกอาจจะไม่จำ วิสาหกิจชุมชน "สลีปิงจัยแก้วกว้าง" ที่ ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมืองเชียงใหม่ ผุดแนวคิด "กินข้าวซอยกอยน้ำปิง" ซึ่งคำว่ากอย เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ดู โดยให้ลูกค้าลงไปกินข้าวซอยกันในเรือ ล่องชมความงามของแม่น้ำปิง ได้ทั้งการท่องเที่ยว ได้ทั้งการอนุรักษ์น้ำปิงไปในตัว
ล่องเรือกันไป กินข้าวซอยกันไปแบบนี้ ได้ทั้งความอร่อยของอาหารพื้นเมือง และได้พักผ่อนหย่อนใจ ชมความสวยงามของลำน้ำปิง แม่น้ำสายหลักของจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับ ต.ฟ้าฮ่าม นับเป็นแหล่งรวมของร้านข้าวซอยดัง ๆ หลายร้าน แต่ถ้าขายเหมือนกันทุกร้าน ก็คงไม่มีเอกลักษณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว จึงผุดไอเดียนี้ขึ้น
ไม่ใช่แค่ในเชิงการค้า การท่องเที่ยวเท่านั้น แต่อีกหนึ่งเจตนา คือ อยากให้คนรุ่นใหม่ ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาแม่น้ำปิง ไม่ให้เน่าเสีย เพราะในฐานะที่อยู่กับน้ำปิงมาตั้งแต่เกิด "อานนท์ ชัยรัตน์" คนที่ขับเรือเราล่องน้ำปิง ก็อยากจะรักษาไว้ให้ใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค และเพื่อการท่องเที่ยว
จะทำอย่างไรให้คนมาดู มาสัมผัสกับแม่น้ำปิง เพื่อให้ช่วยกันดูแลทรัพยากรน้ำ คนเชียงใหม่ไม่ค่อยได้มีโอกาสสัมผัสน้ำปิง ยกเว้นช่วงลอยกระทง เพราะฉะนั้น อยากให้คนรุ่นใหม่ได้มาสัมผัส และเห็นความเปลี่ยนแปลง รวมถึงศึกษาระบบนิเวศ
อานนท์ ยอมรับว่า ในช่วงโควิด-19 ลูกค้าหายไปเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยากลำบาก ต้องปรับตัว เอาของมีค่าไปขายเลี้ยงครอบครัว แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ กลับมาอีกครั้ง
โดยเฉพาะ เมื่อ "ข้าวซอย" ถูกจัดอันดับให้เป็นซุปที่ดีที่สุดในโลก นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ติดต่อจองล่องเรือกินข้าวซอยกันจำนวนมาก ก็จะเปิดรับลูกค้า 3 รอบ เรือลำหนึ่ง รับลูกค้าได้ 10 คน ราคาเหมาลำ 3,500 บาท ตกคนละกว่า 350 บาท แต่หากเป็นนักท่องเที่ยวกรุ๊ปใหญ่เกิน 10 คน ก็จะใช้เรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ข้าวซอยได้รับการบันทึกเป็นน้ำซุประดับโลก ก็ช่วยได้เยอะมาก ถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชียงใหม่ด้วย ถนนสายฟ้าฮ่ามตลอดสายมีแต่ร้านข้าวซอยทั้งนั้น
"กินข้าวซอยกอยน้ำปิง" ล่องกันได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นบางวันในช่วงน้ำหลาก นอกจากการบอกกันปากต่อปาก วิสาหกิจชุมชุนที่นี่ยังใช้ช่องทางโซเชียลในการโปรโมต การจอง เป็นช่องทางในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ซึ่งรายได้จากการดำเนินงาน ก็จะแบ่งสรรปันส่วนกันในวิสาหกิจชุมชน เป็นการสร้างอาชีพ-สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง ในช่วงที่ผ่านความยากลำบากจากโควิด-19
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ผ้าทอกะเหรี่ยง" บ้านหล่ายแก้ว ดีไซน์ใหม่บนขนบเดิม
มอง “เชียงใหม่” 700 กว่าปี ด้วยสายตานักประวัติศาสตร์-สถาปัตย์
“วัดต้นเกว๋น” ต้นแบบอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรมล้านนา