ความเสียหายจากการระเบิดครั้งนั้นทำให้มีผู้เจ็บป่วยจากการได้รับสารพิษตามมาและยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ เพราะไม่มีแพทย์รายใดกล้าชี้ชัดถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงความไม่พร้อมและขาดประสิทธิภาพในการรับมือกับอุบัติภัยฉุกเฉินของหน่วยงานรัฐทุกระดับ
เรื่องราวอุบัติภัยทางสารเคมีครั้งร้ายแรงที่สุดในประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงบ่ายโมงเศษของวันเสาร์ที่ 2 มี.ค.2534 เมื่อคลังเก็บสารเคมีหมายเลข 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เกิดไฟไหม้และระเบิดขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย
แม้จะมีการระดมรถดับเพลิงเข้ามาช่วยกันฉีดน้ำกว่าร้อยคัน พร้อมพนักงานดับเพลิงกว่า 500 คน แต่การฉีดน้ำเพื่อดับไฟที่โหมลุกไหม้สารเคมีบางชนิด ยิ่งทำให้เกิดการระเบิดตามมามากขึ้น แรงระเบิดที่เกิดขึ้นทำให้บ้านเรือนในรัศมี 1 กม. พังเสียหาย และลูกไฟยังกระเด็นไปตกบนหลังคาบ้านของชาวบ้าน จนทำให้เปลวไฟลุกลามไปทั่ว
บ้านไม้ของชาวบ้านในชุมชนเกาะลาว 642 หลังคาเรือน กลายเป็นทะเลเพลิงในพริบตา กว่าควันไฟที่เต็มไปด้วยสารพิษจะสงบลงได้ก็ใช้เวลาถึง 3 วัน แต่กลิ่นเหม็นของสารเคมียังคงอบอวนไปทั่วและรุนแรงมากขึ้นในยามฝนตก
ผลจากความไม่รู้และไม่มีแผนรับมือกับเหตุการณ์สารเคมีระเบิดร้ายแรงที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 4 คน บาดเจ็บสาหัสกว่า 30 คน และมีผู้ป่วยจากการสัมผัสสารพิษ 1,700 คน โดยเป็นหญิงมีครรภ์ 499 ราย มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 5,000 คน
ทั้งยังทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรังตามมาอีกจำนวนมากและกลายเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีแพทย์ยืนยันถึงสาเหตุของการป่วย
มีเพียงผลตรวจร่างกายของชาวบ้านจากหลายหน่วยงานที่บ่งชี้ตรงกันว่า มีสารเคมีหลายชนิดเข้าไปสะสมในร่างกายของคนเหล่านั้น ไม่เพียงแต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจตามมาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น
แต่สารพิษจำนวนมากก็กระจายปะปนไปอยู่ในอากาศ แหล่งน้ำ และดิน ในบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ กลายเป็นกากสารพิษจำนวนมหาศาล นับเป็นเหตุการณ์หายนะเกี่ยวกับสารเคมีที่เลวร้ายครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย
ที่มา : กรณีศึกษา คลังสารเคมีระเบิดที่ท่าเรือคลองเตย สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี
อ่านข่าวสิ่งแวดล้อมเพิ่ม :
มอเตอร์เวย์ "บางใหญ่-กาญจน์" สร้างฝุ่นกระทบชาวบ้าน
ยังไม่ชัด! อุทยานฯ ขยายผล "ลูกชิ้นเนื้อเหี้ย" แต่พบขายเนื้อร้านอาหารป่า