เมื่อวานนี้ สื่อสังคมออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก คลินิกกฎหมายอุ้มผาง โครงการสี่หมอชายแดน จ.ตาก ได้ โพสต์ภาพเด็กๆ ที่บริเวณหน้าป้าย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนุโพ สังกัดเทศบาลตำบลแม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก พร้อมกับเขียนข้อความว่า
ชะตากรรมเด็กน้อย 23 คน โรงเรียนปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียน อ้างว่าหากรับเด็กไม่มีสัญชาติไทยอาจเป็นการทำผิดกฎหมาย แถมเป็นภาระครู
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 คลินิกกฎหมายอุ้มผาง โรงพยาบาลอุ้มผาง ได้รับแจ้งว่ามีนักเรียนจำนวน 23 ราย ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทยจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าเรียนต่อชั้นอนุบาล 1-2 ที่ โรงเรียนบ้านนุโพ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก

เมื่อคลินิกกฎหมายได้ตรวจสอบ พบว่า มีการออกประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 เรื่อง มาตรการเกี่ยวกับการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2
ซึ่งสั่งห้ามมิให้โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 รับบุคคลดังต่อไปนี้เข้าเป็นนักเรียน กล่าวคือ 1.ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่พักอาศัยและมีชื่ออยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว หรือศูนย์อพยพ 2.คนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย 3.บุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศเดินทางไปกลับบริเวณชายแดน

การปฏิเสธไม่รับเด็กเข้าเรียนของโรงเรียน ซึ่งอ้างตามประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 นั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องอย่างชัดแจ้ง
การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่ประสงค์เปิดโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ หลักฐานทางทะเบียน และสถานะทางกฎหมาย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535
อีกทั้งยังจะเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี อาทิ ปฏิญญาโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน พ.ศ.2533 อนุสัญญาสิทธิเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ
จากเด็ก 23 คนในวันนี้ จะเพิ่มเป็นเด็กในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ทั้ง 5 อำเภอชายแดน จ.ตาก เด็กใน อ.แม่สอด ซึ่งในสถานศึกษาบางแห่ง มีเด็กต่างชาติศึกษาอยู่มากกว่าร้อยละ 50 รวมถึงเด็กในพื้นที่ อ.พบพระ แม่ระมาด และท่าสองยาง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ชายแดนไทยเมียนมาด้วยเช่นกัน
จ.ตากเป็นพื้นที่ชายแดนที่มีความละเอียดอ่อน และมีความสำคัญมากในหลายมิติ แต่กลายเป็นว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิทางการศึกษาของประชาชน เช่นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ กลับมีมุมมองความมั่นคงแบบเก่า ยิ่งกว่าหน่วยความมั่นคงของไทย ซึ่งเข้าใจมานานแล้วว่าชาตินิยมหรือสัญชาตินิยมไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ชายแดน และพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ได้
ประเทศไทยได้รับการชื่นชมในทางระหว่างประเทศในเรื่องการให้การศึกษาแก่ทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติเสมอมา ประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ฉบับนี้ แสดงถึงความถดถอยในการดำเนินนโยบายเรื่องการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
อันส่งผลเป็นการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ซึ่งบุคลากรทางการศึกษาของไทยสร้างสัมมานานหลายสิบปี จึงขอเรียนถามท่านผู้บริหาร ว่าท่านเห็นด้วยกับการออกประกาศที่มีเนื้อหาเป็นการเลือกปฏิบัติเช่นนี้หรือไม่
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้จากโรงพยาบาลกับชุมชนในพื้นที่ อ.อุ้มผาง ว่า มีโรงเรียนไม่รับเด็กเข้าเรียน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ว่า เด็กเหล่านั้นเป็นผู้มีสิทธิที่จะเข้าเรียนในสถานศึกษาหรือไม่
เนื่องจากตอนนี้มีกฎหมายอยู่ 2 ฉบับ คือ ข้อห้ามเด็กในศูนย์อพยพเข้ามาเรียนในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เด็กไร้สัญชาติ เด็กที่อยู่นอกศูนย์อพยพ สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการได้
“ตอนนี้ต้องพิสูจน์ก่อนว่า เป็นเด็กในศูนย์พักพิงชั่วคราวหรือไม่ เด็กในศูนย์พักพิงชั่วคราว จะได้รับการจัดการเรียนการสอนในศูนย์พักพิงชั่วคราวโดยองค์กรพัฒนาเอกชน (ร่วมกับ UNHCR) ซึ่งได้รับอนุญาตการดำเนินงานจากกระทรวงมหาดไทย“
ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้เป็นไปตามประเด็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้เข้าไปในเรื่องความมั่นคง กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่จัดการศึกษาตามกฎหมายที่สามารถกำหนดได้ ซึ่งหลังจากทำการพิสูจน์สิทธิเสร็จแล้ว ก็จะเข้าไปทำการแนะนำให้ เด็กทั้ง 23 คน ได้เข้าเรียนตามสิทธิที่พวกเขามีอยู่