หมอลำเป็นอีก 1 อาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะไม่สามารถรับงานแสดงได้ ส่งผลให้วงหมอลำคณะต่างๆ ต้องปรับตัวให้อยู่รอดกับสถานการณ์ อย่างเช่น หมอลำคณะเสียงอีสาน ที่ยังคงโลดแล่นในวงการ มายาวนานกว่า 40 ปี พวกเขาเปลี่ยนรูปแบบการแสดงโชว์มาสู่โลกออนไลน์ ให้มีความทันสมัยและตอบโจทย์กลุ่มแฟนคลับ จนก้าวผ่านช่วงวิกฤตโควิด-19 มาได้
นกน้อย อุไรพร หัวหน้าวงหมอลำเสียงอีสาน บอกว่า ปัจจุบันค่าจ้างวงหมอลำคณะใหญ่ฯ ขั้นต่ำจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท แล้วแต่ระยะทาง เนื่องจากมีต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าไฟ และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องลดค่าใช้จ่ายในหลายด้าน แต่พยายามไม่ปรับลดคน เพื่อประคองให้ลูกทีมยังมีงานทำ ประกอบกับการใช้สื่อโซเชียลเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ จากการขายบัตรรับชมผ่านออนไลน์
หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี Soft Power ที่สามารถผลักดันเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการเดินทางมายังภาคอีสาน นั่นก็คือ "การแสดงหมอลำ"
ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการ ททท. บอกว่า ได้จัดงาน "Concert หมอลำเสียงอีสาน & ISAN IN LOVE" แสดงในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย.2566 ภายใน 10 พื้นที่ภาคอีสาน อาทิ สุรินทร์ ศรีษะเกษ มหาสารคราม เป็นต้น โดยนำเสนอศิลปวัฒนธรรมดนตรี เพื่อหวังกระตุ้นให้เกิดการเดินทางข้ามจังหวัด และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของท้องถิ่นอีสาน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ประมาณการรายได้ของภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2566 จะเติบโตในอัตราเร่งอีก 1 ล้านล้านบาท จากปี 2565 อยู่ที่ระดับ 1.25 ล้านล้านบาท พุ่งแตะระดับ 2.25 ล้านล้านบาท จากอานิสงส์ที่จีนเปิดประเทศหนุนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยกว่า 28.9 ล้านคน ส่งผลทางอ้อมให้การท่องเที่ยวทุกภูมิภาคของไทยมีความคึกคักเพิ่มขึ้น